สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดแสดงนวัตกรรมเพื่อรับมือสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ระหว่าง “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนาม มทส. ชูหน้ากากอนามัยจากผ้าไหมโคราช การใช้กล้องความเร็วสูงทดสอบคุณสมบัติการป้องกันละอองไอจามซึมผ่านหน้ากากอนามัย การผลิตชุด PPE ใช้เองในประเทศ และการพัฒนาตู้ความดันบวก-ความดันลบเพื่อใช้คัดกรองและป้องกันเชื้อจากผู้ป่วย
นครราชสีมา : ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตรวจเยี่ยมความพร้อมของโรงพยาบาลสนาม ณ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน 2564 โอกาสนี้สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) หรือ สซ. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ร่วมจัดแสดงนวัตกรรมเพื่อรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ภายในอาคารบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.)
สำหรับนวัตกรรมเด่นเพื่อรับมือการแพร่ระบาดโควิด-19 อันเป็นผลงานที่พัฒนาโดยนักวิจัยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ได้แก่ การประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอนในการวิจัยและพัฒนาหน้ากากผ้าไหมเพื่อทดแทนหน้ากากทางการแพทย์ โดยใช้แสงซินโครตรอนวิเคราะห์โครงสร้างสามมิติเพื่อออกแบบหน้ากากผ้าไหมปักธงชัยสำหรับทดแทนหน้ากากทางการแพทย์ ซึ่งผลจากการทดสอบพบว่าหน้ากากผ้าไหมที่ได้สามารถป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 และ PM0.3 ได้มากกว่า 80% และป้องกันการกระจายของละอองฝอยน้ำลายได้ดีกว่าหน้ากากผ้าชนิดอื่น อีกทั้งแข็งแรงไม่ขาดง่าย นวัตกรรมนี้นอกจากช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัยแล้ว ยังเป็นการนำวิทยาศาสตร์ขั้นสูงมาช่วยยกระดับสิ่งทอจากเส้นใยธรรมชาติที่เป็นวัสดุในท้องถิ่น และส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดนครราชสีมา
นวัตกรรมถัดมาเป็นการพัฒนาชุดทดสอบการซึมผ่านของอนุภาคสำหรับหน้ากากของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งประยุกต์ใช้กล้องความเร็วสูง ในการทดสอบการซึมผ่านของละอองไอจามผ่านหน้ากากของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งตามปกติสถาบันฯ นำกล้องความเร็วสูงมาใช้ในงานซ่อมบำรุงรักษาเชิงป้องกันสำหรับการตรวจสอบการทำงานและวิเคราะห์การสั่นสะเทือนของอุปกรณ์ เครื่องมือ และเครื่องจักรกลต่างๆ ภายในสถาบันฯ เนื่องจากเป็นเทคโนโลยี การตรวจสอบการสั่นสะเทือนแบบไม่สัมผัส และกล้องมีความไวในการตรวจวัดการสั่นสะเทือนและวิเคราะห์การเคลื่อนไหวได้มากกว่าที่ตาเปล่ามองเห็น จึงช่วยให้เกิดความสะดวกและสามารถตรวจจับความผิดปกติได้อย่างรวดเร็วและซ่อมบำรุงได้อย่างทันท่วงที โดยกล้องความเร็วสูงนี้สามารถบันทึกภาพด้วยอัตราเร็วสูงได้ถึง 1,300 เฟรมต่อวินาที แต่ในการทดสอบการซึมผ่านของละอองไอจามนั้นบันทึกภาพที่ความเร็ว 200 เฟรมต่อวินาที ซึ่งเพียงพอต่อการวิเคราะห์ภาพสำหรับ การทดสอบหน้ากาก และสามารถขยายการเคลื่อนไหวในภาพและวีดีโอได้ ทำให้เห็นละอองไอจามได้อย่างชัดเจน ช่วยในการทดสอบคุณสมบัติป้องกันการซึมผ่านของอนุภาคสำหรับหน้ากากอนามัยได้ ซึ่งผลการทดสอบปรากฏว่าหน้ากากผ้าไหมป้องกันการแพร่กระจายละอองฝอยน้ำลายได้ดีกว่าหน้ากากทางการแพทย์
นอกจากนี้สถาบันฯ ยังร่วมพัฒนาอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล หรือชุด PPE ร่วมกับ พ.ท.นพ.บุระ สินธุภากร จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยนำความเชี่ยวชาญทางด้านการออกแบบวิศวกรรม การออกแบบระบบควบคุมและการแสดงผล มาใช้ทดสอบการซึมผ่านของของเหลวเพื่อพัฒนาชุด PPE ให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่าชุดนำเข้าจากต่างประเทศ และด้วยความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีสุญญากาศของสถาบันฯ ที่สะสมมานานกว่า 20 ปี รวมทั้งองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีวิศวกรรมต่างๆ เช่น เทคโนโลยีแหล่งจ่ายกำลัง เทคโนโลยีระบบควบคุม สถาบันฯ จึงได้สร้างและออกแบบตู้สำหรับตรวจและคัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อแบบความดันบวก ซึ่งมอบให้แก่โรงพยาบาลปักธงชัย อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา แคปซูลสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อความดันลบ ซึ่งมอบให้แก่โรงพยาบาลขามทะเลสอ อำเภอขามทะเลสอ จังหวัดนครราชสีมา และตู้สำหรับครอบเตียงผู้ป่วยแบบความดันลบ ซึ่งมอบให้แก่โรงพยาบาลเทพรัตน์นครราชสีมา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา นวัตกรรมต่างๆ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนสามารถประยุกต์ใช้ความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้เดิมที่มีอยู่เพื่อช่วยประเทศรับมือวิกฤติได้
ข้อมูลจาก สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ผู้ประสานงาน น.ส.ศศิพันธุ์ ไตรทาน, น.ส.กัลยาณี อาบกิ่ง
เบอร์โทรศัพท์ 0-4421-7040 ต่อ 1251-2 โทรสาร 0-4421-7047 อีเมลล์: sasipun@slri.or.th, kallayanee@slri.or.th
เผยแพร่ข่าว : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.