ณ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ : นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยทีมวิจัยศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (NSD) สวทช. นำนวัตกรรมเครื่องกำจัดเชื้อโรคด้วยวิธีการฉายแสงยูวีซี (Girm Zaber UV-C Sterilizer) ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดเชื้อรา แบคทีเรีย และไวรัสก่อโรคโควิด-19 จำนวน 2 เครื่อง
ประกอบด้วย 1.หุ่นยนต์ GIRM ZABER ROBOT ฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงยูวีซี และ 2. GIRM ZABER STATION มอบแก่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ สำหรับใช้งาน ณ หอผู้ป่วยวิกฤตเมฆสวรรค์ ชั้น 3 อาคารกิตติวัฒนา ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยมีผศ.นพอมรพล กันเลิศ นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยกรรม พร้อมด้วย พญ.ฆริกานต์ อักษรชาติ และพญ. อรรจนา เตชะกำพุช โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เป็นผู้แทนรับมอบ
ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา สวทช. ได้ส่งมอบเครื่องกำจัดเชื้อโรคด้วยวิธีการฉายแสงยูวีซี แก่สถานพยาบาลและหน่วยงานต่างๆ แล้วจำนวน 6 เครื่อง เพื่อใช้ฆ่าเชื้อโรคในโรงพยาบาลหรือสถานที่เสี่ยงต่างๆ โดยเครื่องกำจัดเชื้อโรคด้วยวิธีการฉายแสงยูวีซีทำงานโดยใช้รังสีอัลตราไวโอเลตที่มีความยาวคลื่นอยู่ในย่านความถี่ 254 นาโนเมตร มีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 สามารถกำจัดเชื้อโรคได้ทั้งบนพื้นผิวเครื่องมือทางการแพทย์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงไวรัสในฝอยละอองในอากาศ ช่วยลดการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ ลดสารตกค้าง รวมถึงความเสี่ยงของผู้ปฏิบัติงาน ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อจากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผ่านการทดสอบมาตรฐาน Lighting (มอก. 1955/EN55015) จากศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC)
ข้อมูล : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
เผยแพร่ข่าว : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880 โทรสาร 0 2333 3834
Facebook : @MHESIThailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.