นักวิจัย ไบโอเทค-สวทช. เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต้นอินทผลัมสำเร็จได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย แก้ปัญหาเกษตรกรเสี่ยงปลูกอินทผลัมเพาะเมล็ดแล้วไม่ได้คุณภาพของผลผลิตตามต้องการ ช่วยลดการนำเข้าต้นกล้าอินทผลัมเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากต่างประเทศ ตั้งเป้าขยายผลเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์ หวังช่วยผู้ประกอบการสร้างรายได้และกระจายโอกาสให้เกษตรกรรายย่อยเข้าถึง
ต้นอินทผลัม
ผลอินทผลัม
“อินทผลัม” เป็นผลไม้โบราณรสหอมหวานฉ่ำจากดินแดนตะวันออกกลางที่มีสรรพคุณมากมายและได้รับความนิยมอย่างสูงจากผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยเฉพาะพันธุ์รับประทานผลสดที่สามารถปลูกได้ดีในประเทศไทย ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้อินทผลัมขึ้นแท่นเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่มาแรงที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรไทยเป็นกอบเป็นกำ ทั้งการปลูกเพื่อจำหน่ายผลผลิตและการจำหน่ายต้นกล้าอินทผลัมนำเข้าจากต่างประเทศ
เพื่อส่งเสริมการผลิตอินทผลัมให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดและกระจายโอกาสให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าถึงพืชเศรษฐกิจชนิดนี้ได้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับคุณประพัฒน์ วนาพิทักษ์ ประธานบริษัท พี โซลูชัน จำกัด จึงได้พัฒนาเทคนิคการขยายพันธุ์อินทผลัมโดยใช้เทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อร่วมกับระบบไบโอรีแอคเตอร์ (Bioreactor) ทำให้สามารถขยายต้นกล้าอินทผลัมในห้องปฏิบัติการในระดับเชิงพาณิชย์ได้เป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สวทช. ด้วย
ดร.ยี่โถ ทัพภะทัต นักวิจัยไบโอเทค สวทช.
ดร.ยี่โถ ทัพภะทัต นักวิจัยไบโอเทค สวทช. เปิดเผยว่าอินทผลัมเป็นพืชแยกต้นเพศผู้และเพศเมีย เกษตรกรจะปลูกให้ได้ผลผลิตจะต้องปลูกต้นเพศเมียเท่านั้น แต่การเพาะเมล็ดอินทผลัมนั้นนอกจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดการกลายพันธุ์แล้ว ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะได้ต้นเพศผู้มากกว่าต้นเพศเมีย และจะทราบก็ต่อเมื่อปลูกไปแล้ว 2-3 ปี จนกระทั่งพืชออกดอก ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะสามารถส่งตรวจทดสอบเพศของต้นอินทผลัมได้แล้ว แต่ก็ไม่การันตีถึงคุณภาพของผลผลิตที่ได้รับ ทำให้เกษตรกรเสียเวลาและเกิดความเสียหายอย่างมาก เกษตรกรรายใหญ่จึงมักเลือกซื้อต้นกล้าอินทผลัมที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากต่างประเทศมาปลูก ซึ่งมีราคาสูงแต่รับประกันได้ว่าเป็นต้นเพศเมียและให้ผลผลิตแน่นอน
“อินทผลัมเป็นพืชตระกูลปาล์ม ซึ่งการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชตระกูลปาล์มนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นพืชที่โตช้า ดังนั้นการพัฒนาเนื้อเยื่อในห้องปฏิบัติการจึงช้าไปด้วย ปัจจุบันยังไม่มีห้องปฏิบัติการแห่งไหนในประเทศสามารถผลิตต้นอินทผลัมเพศเมียจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อระดับเซลล์ได้ ทางทีมวิจัยก็ได้รับโจทย์นี้มาจากผู้ประกอบการและเกษตรกรที่สนใจการขยายพันธุ์อินทผลัมด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จึงได้เริ่มทำวิจัยโดยคัดเลือกต้นอินทผลัมเพศเมียสายพันธุ์ดีและมีลักษณะดีเพื่อใช้เป็นต้นแม่ แล้วนำเนื้อเยื่อเจริญส่วนยอดและใบอ่อนของต้นแม่มาเพาะเลี้ยงด้วยอาหารสังเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเป็นเวลากว่า 1-2 ปี จนสามารถชักนำให้เกิดการพัฒนาเป็นกลุ่มเซลล์ที่เรียกว่าแคลลัส และแคลลัสสามารถเจริญไปเป็นยอดอ่อนได้”
“ที่ผ่านมาทำวิจัยในปาล์มน้ำมัน พบว่ากว่าจะเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อปาล์มน้ำมันให้เกิดเป็นต้นอ่อนขึ้นในขวดแก้วได้ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี แต่ในอินทผลัมเราสามารถทำได้เร็วกว่าปาล์มน้ำมัน โดยใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี ก็เริ่มเห็นเป็นยอดอ่อนสีเขียวเกิดขึ้นบนแคลลัสแล้ว ยอดอ่อนสีเขียวที่เห็นนี้ถือว่าสำเร็จไปแล้ว 80% และจากประสบการณ์ของทีมวิจัย เราเห็นแนวโน้มว่าจะพัฒนาไปเป็นต้นและขยายได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ต้นในปีหน้า ซึ่งเราใช้ระบบไบโอรีแอคเตอร์เข้ามาช่วยเร่งการเจริญเติบโต และคาดว่าน่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือน เราจะได้เห็นลักษณะเป็นต้นที่ชัดเจน”
เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อปาล์มน้ำมัน
เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออินทผลัม
สำหรับไบโอรีแอคเตอร์เป็นระบบการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อด้วยอาหารเหลวแบบกึ่งจมที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้น ซึ่งช่วยลดปัญหาของการเพาะเลี้ยงด้วยอาหารแข็ง และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการเจริญและพัฒนาเนื้อเยื่อไปเป็นต้นอ่อน ทำให้สามารถขยายพันธุ์ได้รวดเร็วกว่าวิธีการใช้อาหารแข็งปกติประมาณ 3-4 เท่า ทั้งยังช่วยลดต้นทุนและประหยัดแรงงานในการดูแลย้ายอาหารของต้นอ่อนในห้องปฏิบัติการ
“อินทผลัมเป็นพืชมูลค่าสูง ผลสดเป็นที่ต้องการสูงในตลาด มีราคาจำหน่ายกิโลกรัมละ 500-800 บาท ทั้งบริโภคในประเทศและส่งออก โดยเฉพาะประเทศแถบตะวันออกกลาง ในขณะที่ต้นกล้าอินทผลัมเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาสูงถึงต้นละ 1,500-2,000 บาท ส่วนใหญ่นำเข้าจากอิรัก อียิปต์ รวมถึงอังกฤษ จึงมีแต่เกษตรกรหรือผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้นที่ลงทุนปลูกได้ แต่หากเราสามารถผลิตต้นกล้าอินทผลัมเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้เองในประเทศและทำให้มีราคาถูกกว่าของต่างประเทศ จะช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการได้มาก ส่วนเกษตรกรรายย่อยก็มีโอกาสปลูกได้มากขึ้นด้วย หรือปลูกเสริมจากการทำไร่ทำนาเพียงไม่กี่ต้น ก็จะช่วยให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง”
ทั้งนี้ นักวิจัยตั้งเป้าว่าในอนาคตจะมีการต่อยอดและขยายผลเทคโนโลยีนี้ไปสู่เกษตรกร โดยอาจเป็นในรูปแบบการร่วมลงทุนเพื่อจัดตั้งห้องปฏิบัติการสำหรับผลิตต้นกล้าอินทผลัมโดยเฉพาะ หรือถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนด้านห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อผลิตต้นกล้าอินทผลัมในเชิงพาณิชย์ รวมถึงได้ศึกษาวิจัยการขยายพันธุ์พืชเศรษฐกิจอื่นๆ ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในระบบไบโอรีแอคเตอร์ อาทิ มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน พืชสมุนไพร และไม้ดอกไม้ประดับที่มีมูลค่าสูงในตลาดปัจจุบัน
งานวิจัยนี้จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชเศรษฐกิจในประเทศไทย ที่ช่วยเกษตรกรลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และกระจายโอกาสให้ทั่วถึง สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG (BCG economy model) ที่เป็นวาระของชาติในขณะนี้
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.