ข่าวดีต้อนรับวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ (22พ.ค. ของทุกปี) นักวิชาการไทยค้นพบพืชวงศ์ขิง 8 ชนิดใหม่ของโลก อาทิ ‘กระเจียวจรัญ’ ‘กระเจียวรังสิมา’ ‘ขมิ้นน้อย’ ‘ขมิ้นพวงเพ็ญ’ ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์ขิงและนักพฤกษศาสตร์ของไทย นอกจากนี้ยังพบพืชวงศ์ขิงที่มีการรายงานใหม่ในประเทศไทยอีก 1 ชนิด เตรียมศึกษาอนุรักษ์ระยะยาว
(วันที่ 21 พฤษภาคม) รศ.ดร.สุรพล แสนสุข นักวิจัยสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช และ ผศ.ดร.ปิยะพร แสนสุข นักวิจัยภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยว่า ได้รับทุนวิจัยจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อดำเนินโครงการองค์ความรู้พื้นฐานโครโมโซมของพืชวงศ์ขิงในประเทศไทย โดยในช่วง ปี 2563 ที่ผ่านมาได้ สำรวจและเก็บข้อมูลพืชวงศ์ขิงในประเทศไทย เพื่อนำตัวอย่างพืชมาศึกษาโครโมโซม และได้ตรวจสอบลักษณะพืชเพื่อจำแนกพืชให้ได้ชื่อวิทยาศาสตร์พืชแต่ละชนิด แบ่งเป็นสกุลสกุลขมิ้นหรือสกุลกระเจียว (Curcuma) 6 ชนิด และสกุลเปราะ (Kaempferia) 2 ชนิด มีลักษณะพืชที่แตกต่างและไม่ตรงกับพืชชนิดอื่นๆ ถือพืชชนิดใหม่ของโลก โดยผู้วิจัยตั้งชื่อวิทยาศาสตร์พืชตามกฎเกณฑ์การตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของพืช และได้ตีพิมพ์ในวารสาร Biodiversitas เรียบร้อยแล้ว
รศ.ดร.สุรพล แสนสุข กล่าวว่า การค้นพบพืชตระกูลขิงชนิดใหม่ของโลกทั้ง 8 ชนิด ประกอบด้วย ชนิดที่ 1 ขมิ้นน้อยหรือ “Khamin-Noi”มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma chantaranothaii Boonma & Saensouk พบทางเป็นพืชป่าจากจังหวัดนครนายกที่นำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วประเทศไทยชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้ตั้งเป็นเกียรติแก่ ศาสตราจารย์ ดร.ประนอม จันทรโณทัย ซึ่งท่านเป็นนักพฤกษศาสตร์ไทยที่มีชื่อเสียงในแวดวงพฤกษศาสตร์ของประเทศไทยและของโลก
ชนิดที่ 2 กระเจียวรังสิมา หรือ Krachiao Rangsima” หรืออีกชื่อคือ “บุษราคัม หรือ Bussarakham” มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma rangsimae Boonma & Saensouk พบในจังหวัดนครนายก สระบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และนครราชสีมา ชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้ตั้งเป็นเกียรติแก่ คุณรังสิมา ตัณฑเลขา ผู้อำนวยการโปรแกรมอาวุโส โปรแกรมการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติบุคคลที่อยู่เบื้องหลังและสนับสนุนงานวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน
ชนิดที่ 3 ขมิ้นพวงเพ็ญหรือ “Khamin-Puangpen” มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma puangpeniae Boonma & Saensouk พืชชนิดนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับพวกขมิ้นหรือกระเจียว พืชชนิดนี้พบที่จังหวัดราชบุรี ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้เป็นเกียรติแก่ ศาสตราจารย์พวงเพ็ญ ศิริรักษ์ ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่ศึกษาพืชวงศ์ขิงในประเทศไทย
ชนิดที่ 4 กระเจียวจรัญ หรือ “Krachiao Charan”มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma charanii Boonma & Saensouk อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับพวกขมิ้นหรือกระเจียว พืชชนิดนี้พบที่จังหวัดลพบุรี ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้เป็นเกียรติแก่ ดร.จรัญ มากน้อย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์ขิง โดยเฉพาะสกุล Curcuma ในประเทศไทย
ชนิดที่ 5 พญาว่าน หรือ “Phraya Wan“ มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma phrayawan Boonma & Saensouk พบที่จังหวัดนครนายก และปลูกเป็นพืชสมุนไพรทั่วไทย ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้ตามชื่อพื้นเมืองที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือ “พญาว่าน”
ชนิดที่ 6 กระเจียวม่วง หรือ “อเมทิสต์” มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma purpurata Boonma & Saensouk พบที่จังหวัดศรีสะเกษ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้ตามสีม่วงของดอกพืช
รศ.ดร.สุรพล กล่าวต่อว่า สำหรับพืชวงศ์ขิงที่พบเพิ่มเติมแต่อยู่ในสกุลเปราะ (Kaempferia) 2 ชนิด คือ ชนิดที่7 นิลกาฬ หรือ Nillakan มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Kaempferia nigrifolia Boonma & Saensouk พืชชนิดใหม่ของโลกนิลกาฬนี้ได้ตั้งขึ้นตามลักษณะเด่นของพืชคือ ใบมีสีดำ พบทางภาคกลางของประเทศไทย ได้ศึกษาโดย รศ.ดร.สุรพล แสนสุข นายธวัชพงศ์ บุญมา และ ผศ.ดร.ปิยะพร แสนสุข ชื่อพื้นเมือง คือ นิลกาฬ หรือ Nillakan ตั้งขึ้นตามลักษณะเด่นของพืชคือ ใบมีสีดำ ดังนั้นลักษณะเด่น คือ ใบสีดำดอกและสีม่วง
และ ชนิดที่8 ว่านกระชายดำเทียม มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Kaempferia pseudoparviflora Saensouk and P. Saensouk ลักษณะเด่นของพืชคือ ใบมีใบเดียว ก้านช่อดอกสั้น และช่อดอกอัดแน่น พบทางภาคเหนือของประเทศไทย ได้ศึกษาโดย รศ.ดร.สุรพล แสนสุข และ ผศ.ดร.ปิยะพร แสนสุข ชื่อพื้นเมือง คือ ว่านกระชายดำเทียม
และชนิดสุดท้าย เป็นพืชวงศ์ขิงที่มีการรายงานใหม่ในประเทศไทย 1 ชนิด คือ ว่านหัวน้อย มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma peramoena Souvann. & Maknoi. พบครั้งแรกที่ สปป. ลาว และมีการพบในประเทศไทยที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ลักษณะเด่นช่อดอกอัดแน่น ดอกสีขาวปนสีชมพูอ่อน กลีบปากมีแถบสีเหลือง
รศ.ดร.สุรพล กล่าวด้วยว่า การค้นพบพืชวงศ์ขิงชนิดใหม่ของโลกทั้ง 8 ชนิดนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีของประเทศไทย ที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะพืชวงศ์ขิงนี้ ถือเป็นพืชที่มีประโยชน์ทั้งสรรพคุณของสมุนไพรไทย เป็นพืชผักพื้นบ้าน เป็นไม้ดอกไม้ประดับ และยังมีความสวยงามของต้นและดอกสีสันสดใส ควรค่าแก่การอนุรักษ์ รักษา โดยคณะผู้วิจัยกำลังมีแนวทางในการขยายพันธุ์จากเหง้าและขยายพันธุ์โดยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ รวมทั้งถ่ายทอดความรู้ที่เกิดจากงานวิจัย ถ่ายทอดลงสู่ชุมชนนักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมทั้งผู้สนใจทั่วไป เพื่อทำการอนุรักษ์สายพันธุ์ต่างๆ ในระยะยาวต่อไป
นับเป็นข่าวดีต้อนรับวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ International Day of Biological Diversity ซึ่งตรงกับวันที่ 22 พฤษภาคมของทุกปีเพื่อรำลึกถึงวันที่อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity : CDB) เริ่มมีผลบังคับใช้คือวันที่ 22 พ.ค. 2535 เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ใช้ประโยชน์องค์ประกอบของความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม
ทั้งนี้ความหลากหลายทางชีวภาพ หมายถึง สิ่งมีชีวิตนานาชนิด เช่น พืชและสัตว์รวมทั้งสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่มีความแตกต่างกันตามหน่วยของพันธุกรรมและสภาพถิ่นที่อยู่อาศัย สิ่งมีชีวิตเหล่านี้มีความหลากหลายทางพันธุกรรมเป็นสายพันธุ์ หากถิ่นที่อยู่อาศัยมีความแตกต่างกันมากเพียงใดก็ยิ่งมีสิ่งชีวิตหลากหลาย มากยิ่งขึ้นเพียงนั้น
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.