จากการนำเสนอผลการศึกษาวิจัยเชิงระบบด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อุตสาหกรรมอาหาร (เนื้อไก่) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมอยู่ตัว (Well-established) ในตอนที่ผ่านมา ครั้งนี้เราจะพามาถอดผลการศึกษาวิจัยเชิงระบบด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (in-transition sector) อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ (ยานยนต์ไฟฟ้า) กันบ้าง จะมีรายละเอียดอย่างไร ไปติดตามพร้อมๆ กัน
อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมที่ถือว่าอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (in-transition sector) ไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งมี
การปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมแบบพลิกผัน และมีผู้ประกอบการที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งจากอุตสาหกรรมยานยนต์เดิม และผู้ประกอบการใหม่ที่มาจากอุตสาหกรรมอื่น ที่เข้ามาดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์และให้บริการในแบบที่แตกต่างกันไป ดังนั้น เพื่อให้เกิดการประเมินขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีของผู้ประกอบการที่ทำได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องมีการออกแบบหรือปรับกรอบการประเมินให้เหมาะสมกับบริบทของอุตสาหกรรม ซึ่งในการประเมินความสามารถด้านเทคโนโลยีครั้งนี้ได้ทำการศึกษาและประเมินผู้ประกอบการกลุ่มตัวอย่างที่มีความสนใจดำเนินธุรกิจที่ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ (product) และบริการ (mobility service) ที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์สมัยใหม่และเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้เริ่มดำเนินกิจกรรมเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่มาแล้วระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้สามารถสะท้อนความสามารถและองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่มี ทั้งในมิติกิจกรรมการดำเนินธุรกิจ (operation) การลงทุนทางด้านเทคโนโลยี (investment) และรูปแบบในการเข้าถึงเทคโนโลยีของบริษัทได้อย่างชัดเจน และเนื่องจากโครงสร้างอุตสาหกรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลงและมีผู้ประกอบการที่มาจากอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ทำให้ยังไม่สามารถระบุกิจกรรมทางธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมที่ชัดเจนได้ จึงไม่เหมาะที่จะใช้เครื่องมือประเมินขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี ของผู้ประกอยการแบบอุตสาหกรรมเนื้อไก่ที่อยู่ตัวแล้วได้ โดยในการประเมินสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์นี้ จะใช้เครื่องมือประเมินผู้ประกอบการในส่วนนี้จำนวน 2 เครื่องมือ คือ 1) เครื่องมือประเมินขีดความสามารถของผู้ประกอบการในภาพรวม (overall capability assessment) เพื่อศึกษาและประเมินทิศทางธุรกิจ ความสามารถในการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาเทคโนโลยี ปัญหาอุปสรรคที่ครอบคลุมการตลาด กฎระเบียบ ฯลฯ ตลอดจนแนวทางการจัดสรรทรัพยากรและรูปแบบการเข้าถึงและเรียนรู้เทคโนโลยีของบริษัท ซึ่งการประเมินแบบภาพรวมนี้จะช่วยให้เข้าใจถึงสภาพการณ์โดยทั่วไปของบริษัท โดยคณะผู้วิจัยได้แยกวิเคราะห์รูปแบบธุรกิจการผลิตและธุรกิจการให้บริการออกเป็น 3 มิติ ได้แก่ มิติด้านศักยภาพของผู้ประกอบการ (capability) มิติด้านปัญหาและอุปสรรค (bottleneck) และมิติด้านกลยุทธ์ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี (strategy for technology & RDI activities) 2) เครื่องมือประเมินความสามารถในการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยี (technological learning) ของผู้ประกอบการด้วย Capability Audit Tool (CAT) เพื่อประเมินความสามารถในการเรียนรู้และของบริษัทว่ามีรูปแบบการคัดเลือกเทคโนโลยีที่สะท้อนถึงโอกาสทางธุรกิจในอนาคตหรือไม่ มีรูปแบบการเข้าถึงการเรียนรู้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับเป้าหมายการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนมีการจัดการการเรียนรู้และการสร้างเครือข่ายที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพหรือไม่ ในระดับใด
และเพื่อให้เครื่องมือการประเมินความสามารถด้านเทคโนโลยีนี้มีประโยชน์สูงที่สุด นอกจากที่ผู้ประเมินจะต้องมีความรู้เชิงลึกในอุตสาหกรรมเดิมแล้ว ยังจะต้องตระหนักและเข้าใจถึงแนวโน้มของเทคโนโลยีใหม่ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วที่มีผลกระทบต่อที่มีอุตสาหกรรมโลก แนวทางและนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ ซึ่งนำไปสู่โอกาสและอุปสรรคของผู้ประกอบการในการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อที่จะทำให้เข้าใจถึงบริบทของผู้ประกอบการ และประเมินความสามารถในบริบทของเขาได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ทั้งยังสามารถนำความเข้าใจถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมและผลประเมินความสามารถของผู้ประกอบการไปสร้างองค์ความรู้ใหม่ (insight) เพื่อให้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้
ขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ (ยานยนต์ไฟฟ้า)
จากการศึกษาวิจัย ได้เก็บข้อมูลผู้ประกอบการที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีค่อนข้างสูงในอุตสาหกรรมยานยนต์เดิม มีความพร้อม มีการวางแผนและได้เริ่มดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว โดยในส่วนผลการประเมินบริษัทที่มีศักยภาพด้านการผลิตสูงและเลือกที่จะผลิตรถบัสไฟฟ้า ซึ่งได้ถูกคาดการณ์ไว้ว่าจะเป็นตลาดที่โตก่อนเป็นอันดับแรกสำหรับทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ด้านการผลิต พบว่า ผู้ประกอบการมีความสามารถในการประกอบยานยนต์ โดยมีฐานความรู้และเครือข่ายซัพพลายเออร์จากกลุ่มธุรกิจเดิม มีความสามารถทางด้านวิศวกรรมที่ใช้ในการออกแบบยานยนต์ ด้านวัสดุศาสตร์ และการบริหารจัดการกระบวนการผลิต (production process management) นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาร่วมกับสถาบันวิจัยในประเทศ แต่ประสบปัญหาในด้านความน่าเชื่อถือของตราสินค้า (brand) ความสามารถด้านการตลาด และการทดสอบมาตรฐานในประเทศ รวมทั้งยังขาดความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ โดยมีกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีคือ การซื้อเทคโนโลยีจากภายนอกที่ไม่ใช่เทคโนโลยีที่บริษัทมีศักยภาพในการผลิตสูงเข้ามาต่อยอดทางธุรกิจ
สำหรับผลการประเมินบริษัทที่มีศักยภาพด้านบริการ (mobility) สูง และเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการคมนาคมขนส่ง ที่อาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเทคโนโลยีสำคัญ พบว่า ด้านการผลิต ในการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า บริษัทมีการพัฒนาตู้สลับแบตเตอรี่ (battery swapping) เพื่อให้บริการแก่ผู้บริโภค และมีแผนการขยายสถานีบริการสลับแบตเตอรี่ (swapping station) เพื่อรองรับการขยายธุรกิจของบริษัทในอนาคต ด้านบริการ ปัจจุบันบริษัทมีการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการของบริษัท (mobility platform) และการทำวิจัยเกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูล (data analytics) เพื่อพัฒนารูปแบบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยที่มีการสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ เช่น บริษัทรถยนต์ และบริษัทสถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่อขยายการใช้แพลตฟอร์ม (platform) ให้ครอบคลุมการให้บริการยานพาหนะหลายประเภท รวมทั้งขยายฐานการตลาดไปสู่กลุ่มลูกค้าเฉพาะอื่นๆ เช่น การร่วมมือกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในการพัฒนาสถานีบริการสลับแบตเตอรี่ หรือการให้บริการรถยนต์ไฟฟ้าภายในโครงการ เป็นต้น
เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน มีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่หลากหลายที่ทำกิจกรรมทางธุรกิจที่แตกต่างกัน มีธุรกิจเดิมธุรกิจหลักหรือจุดแข็งที่ต่างกัน และมีทิศทางในการขยายธุรกิจที่แตกต่างกันไป ดังนั้นจึงได้มีการศึกษาวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเพื่อทำความเข้าใจทิศทางการปรับตัวของผู้ประกอบการ โดยสามารถแบ่งกลุ่มผู้ประกอบการออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มผู้ประกอบการที่ผลิตและให้บริการด้านพลังงาน (Energy solution) ซึ่งอยู่ที่ช่วงต้นของห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมใหม่ และกำลังขยายธุรกิจเข้าไปสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 2) กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนและประกอบยานยนต์ (Auto parts and assembly) เป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดิม และได้ทำการพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยีเพื่อให้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าได้ ควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลง แต่ก็มีผู้ประกอบการบางรายที่เริ่มขยายธุรกิจเข้าไปสู่การให้บริการ 3) กลุ่มผู้ให้บริการคมนาคมขนส่ง (Mobility service) ซึ่งใช้โอกาสที่อุตสาหกรรมอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรม มีผู้ประกอบการหลายรายได้ขยายธุรกิจเข้าไปสู่การผลิตด้วย
นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยยังได้พัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเบื้องต้นสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า จากข้อมูลการศึกษาสัมภาษณ์และประเมินผู้ประกอบการ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ควรทบทวนขอบเขตของการกำหนดเป้าหมายอุตสาหกรรม จากเดิมที่เน้นเพียงการผลิตชิ้นส่วนและการประกอบยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งยังค่อนข้างแคบ ให้ขยายครอบคลุมถึงธุรกิจด้านพลังงานและด้านคมนาคมขนส่ง (mobility) เพื่อนำไปสู่การศึกษาเชิงลึกเพื่อกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ของประเทศที่ระบุกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้เหมาะสมในมิติธุรกิจที่ครบวงจร
2. ควรวางนโยบายการถ่ายทอดหรือซื้อเทคโนโลยีเป้าหมายที่เน้นไปที่รูปแบบการร่วมลงทุน หรือมีมาตรการเฉพาะเพื่อดึงดูดให้บริษัทต่างชาติที่สนใจลงทุนวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยีให้เข้ามาอยู่ในไทย โดยออกแบบนโยบายให้เหมาะสมกับลักษณะธุรกิจและขนาดของผู้ประกอบการ เนื่องจากเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมนี้มีความซับซ้อน อยู่ระหว่างการแข่งขันอย่างรุนแรง ยังไม่มีรูปแบบที่เป็นมาตรฐาน (dominant design) จึงยังไม่มีเทคโนโลยีของบริษัทใดที่เป็นผู้ครองตลาดโดยสมบูรณ์
3. นอกจากนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดิม กล่าวคือ ผู้ผลิตชิ้นส่วนและผู้ประกอบยานยนต์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น พลังงานและบริการคมนาคมขนส่ง แล้วนั้น ควรทำการศึกษาการเปลี่ยนแปลงภาพรวมหรือภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรม (industry landscape) อย่างครบถ้วนสำหรับประเทศไทยและวางนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมอื่น แต่ไม่รู้ว่าตนเองสามารถเข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมใหม่นี้ได้ เช่น ผู้ผลิตมอเตอร์หรือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และในขณะเดียวกันก็วางกลยุทธ์การปรับตัวและกลยุทธ์การถอนตัว (exit strategy) ให้กับผู้ประกอบการที่ไม่สามารถอยู่เป็นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมใหม่ต่อไปได้ เช่น ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบไอเสีย ระบบเกียร์ ระบบคลัตช์ ฯลฯ โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการขนาดกลางขนาดเล็กที่อาจไม่ได้ติดตามการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมของตนเองหรืออุตสาหกรรมใกล้เคียง
ติดตามย้อนหลังกับผลการศึกษาวิจัยเชิงระบบด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ถอดแนวทางการประเมินขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร (เนื้อไก่) ได้ที่ https://www.nxpo.or.th/th/7949/
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.