เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.64 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดประชุมคณะกรรมการอํานวยการ สอวช. ครั้งที่ 4/2564 ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และผ่านระบบการประชุมออนไลน์ โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. เป็นประธานการประชุม ทั้งนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เปิดเผยหลังการประชุมว่า การประชุมครั้งนี้ได้มีการหารือกรอบการดําเนินงานขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งตนมองว่าในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ชาติตะวันตก หรือประเทศจีน ญี่ปุ่น คิดมาก่อนไทยก็จริง แต่เมื่อเรามาทีหลัง เราจึงต้องหาว่ามีอะไรที่เป็นบายพาส ทางลัดหรือทางเลี่ยงได้บ้าง โดยประเทศไทยควรมองอะไรที่เป็นจุดเด่นของเราจริงๆ ที่เราจะแข่งขันได้
“เรื่องบีซีจี อยากให้เห็นเป็นการขับเคลื่อนทางสังคมที่สามารถสร้างผลกระทบได้มากขึ้น เช่น การปลูกป่า การใช้วิถีชีวิตแบบกรีน ออร์แกนิค ซึ่งของไทยเรามีเรื่องการท่องเที่ยวที่เป็นจุดแข็ง เพราะมีสัดส่วนสำคัญถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ถ้าเราจะทำเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนกับเศรษฐกิจสีเขียว อาจจะต้องเอาเรื่องการท่องเที่ยวมานำและต้องทำให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ในการเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก และหากมองอีกแง่หนึ่ง บีซีจี คือแนวทางไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เราต้องทำในแบบของไทย เรามีภาคการเกษตรมากมาย มีเรื่องการท่องเที่ยวอยู่ด้วย เราต้องคิดว่าอะไรคือลักษณะเฉพาะของไทย ต้องรู้ธรรมชาติของไทย แล้วเอามาทำร่วมกับสิ่งที่เราศึกษาข้อมูลจากต่างประเทศ น่าจะเป็นแนวทางที่ดี” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก กล่าว
ด้าน ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ได้เปิดเผยรายละเอียดกรอบการดําเนินงานขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ได้นำเสนอต่อที่ประชุมว่า กรอบการดำเนินงานดังกล่าวมีเป้าหมายในการบูรณาการทางนโยบาย และสร้างโครงสร้าง ปัจจัยเอื้อ และระบบนิเวศที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีแกนหลักคือ การกำหนดกลยุทธ์เศรษฐกิจหมุนเวียนของไทย ปี 2030 ที่มีเจตนารมย์ที่จะลดการใช้ทรัพยากรลง 1 ใน 4 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ และสร้างมูลค่าจากเศรษฐกิจหมุนเวียน 1-3 เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพี ทั้งนี้เป้าหมายของกลยุทธ์เศรษฐกิจหมุนเวียนของไทย ปี 2030 ประเทศไทยจะเป็น ศูนย์กลางการบริการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (CE Service Hub) ของภูมิภาคอาเซียน อาทิ ด้านแลปทดลอง การออกมาตรฐาน เมืองศูนย์กลางด้านการรีไซเคิล รวมถึงมี ผลิตภัณฑ์เด่นด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (CE Champion Product) ที่สำคัญของซัพพลายเชนโลก อีกกรอบการดําเนินงานขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สำคัญคือ แพลตฟอร์มเวทีนโยบายนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ CE Innovation Policy Forum พื้นที่แห่งการบูรณาการ ช่วยกันคิด ช่วยกันออกแบบและช่วยกันทำ ซึ่งจะเป็นเวทีที่เชิญผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนมาหารือแลกเปลี่ยนถึงความต้องการ อุปสรรค และเสนอทางออกของปัญหาอย่างตรงจุดและบูรณาการความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายร่วมกัน
โดยที่ประชุมได้แสดงความชื่นชมต่อกรอบการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน ว่าเป็นแนวทางที่ดีและควรผลักดันในการดำเนินการต่อ โดย สอวช. จะรับข้อเสนอแนะทั้งจาก รมว.อว. ในเรื่องการนำจุดแข็งของประเทศไทยอย่างเรื่องการท่องเที่ยว รวมถึงข้อเสนอแนะอื่นๆ ของที่ประชุมไปเชื่อมโยงกับกรอบการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไป
“นอกจากเรื่องการท่องเที่ยวแล้ว ประเทศไทยยังมีข้อได้เปรียบด้านความหลากหลายทางทรัพยากรชีวภาพที่สามารถหยิบยกเข้ามาเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งในการขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ อย่างเช่นการใช้จุลินทรีย์ในการย่อยสลาย รวมถึงหากมองในแง่มุมความต้องการในตลาดเฉพาะกลุ่มของภูมิภาคอาเซียน ยังมีความต้องการในเรื่องวัสดุเพื่อใช้ในการก่อสร้าง ที่ไทยสามารถนำเรื่องการออกแบบตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Design เข้ามาใช้ เพื่อออกแบบวัสดุก่อสร้าง และสร้างตลาดกลุ่มนี้ในอนาคตได้” ดร. กิติพงค์ กล่าว
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.