วันนี้ (30 มิถุนายน 64) เวลา 9.30 น. สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงนามความร่วมมือออนไลน์กับ แพทยสภา และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข บูรณาการความร่วมมือตรวจสอบคุณสมบัติผู้มีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ - ผู้ประกอบโรคศิลปะ มุ่งเน้นให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินการออกใบอนุญาตเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี
นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้มีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ ผ่านระบบออนไลน์ร่วมกับศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา พร้อมกันนี้ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้มีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ กับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มอบหมายให้ ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นผู้แทนเข้าร่วมพิธี โดยมีนางเพ็ญนภา กัญชนะ รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ พลอากาศตรี นายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา และผู้บริหารทั้งสามหน่วยงานร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว
นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กล่าวว่า แพทยสภา และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ถือเป็นหน่วยงานสำคัญที่มีภารกิจในการออกใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ และใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ ซึ่งการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นการบูรณาการความร่วมมือของสามหน่วยงานหลักที่มีความสำคัญต่อการตรวจสอบคุณสมบัติบุคคลเพื่อให้การออกใบอนุญาตเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีโดยสำนักงานปรมาณู เพื่อสันติเป็นไปอย่างถูกต้อง รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามข้อกฎกระทรวงกำหนดการแบ่งระดับ การกำหนดคุณวุฒิ และการอนุญาตเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี พ.ศ. 2563 และประกาศสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เรื่อง การเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี พ.ศ. 2563 อันจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีของประเทศต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองอนุญาตทางนิวเคลียร์และรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โทรศัพท์ 0 2596 7600 ต่อ 4308
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.