ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Bio-based product) เป็นหนึ่งในประเภทของสินค้าที่กำลังมาแรงทั่วโลก เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีการพัฒนาโดยให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพของผู้บริโภค รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้ใจสายกรีนไปเต็มๆ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์พบเห็นได้ทั่วไป เช่น อาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพ ยา อาหารสัตว์ และชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช
แต่การจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ขึ้นมาสักชิ้น ก็ถือเป็นโจทย์หินท้าทายการทำงานของผู้ประกอบการไม่น้อย เพราะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพโดยส่วนใหญ่จะต้องมีการทำวิจัยเพื่อค้นหาสารจุลชีพสำคัญมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้โดดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่ง ซึ่งการทำวิจัยจะมีความซับซ้อนสูง ใช้เวลาในการค้นคว้าและทดลองนาน ก่อให้เกิดความล่าช้า และอาจนำมาซึ่งการสูญเสียพื้นที่ทางการตลาด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เสนอทางเลือกใหม่ในการทำวิจัยให้แก่ผู้ประกอบการ เป็นแพลตฟอร์ม “Smart-BIOact” ที่สามารถตอบโจทย์ทุกคำถามสำคัญของการทำวิจัยในแพลตฟอร์มเดียว
ดร.จิตติศักดิ์ เสนาจักร์ นักวิจัยทีมวิจัยชีวศาสตร์และชีววิทยาระบบ (ISST) ไบโอเทค สวทช. อธิบายว่า Smart-BIOact สามารถช่วยผู้ประกอบการในการคัดเลือกสารจุลชีพที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ ค้นหาสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดในการเพาะเลี้ยงจุลชีพ รวมถึงสามารถประเมินปริมาณผลผลิตสารเป้าหมายที่จะได้ (Production yield) ภายในแพลตฟอร์มเดียว เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีชุดข้อมูลสำคัญในการวิเคราะห์ทางการตลาดก่อนนำไปลงทุนจริง ช่วยลดระยะเวลาในการทำวิจัย และความเสี่ยงในการลงทุน
“Smart-BIOact เป็นแพลตฟอร์มที่ทำงานได้รวดเร็วและแม่นยำ มีการนำเทคโนโลยีหลายด้านมาบูรณาการเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลจีโนมของจุลินทรีย์ อาทิ AI, Metabolic modeling และ Bioinformatics ฯลฯ ที่สำคัญปัจจุบัน Smart-BIOact เป็นเพียงแพลตฟอร์มเดียวที่สามารถทำงานทั้งหมดนี้ได้แบบ One-stop-service และมีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำและคำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการตลอดการทำวิจัย”
ดร.จิตติศักดิ์ ยกตัวอย่างกลุ่มอุตสาหกรรมที่ Smart-BIOact สามารถเข้าไปช่วยสนับสนุนการเติบโตได้ คือ อุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ ที่ทั่วโลกมีมูลค่าการตลาดสูงถึง 5.5 ล้านล้านบาท (1.8 แสนล้าน USD) ในไทยมีมูลค่าสูงถึง 6.8 หมื่นล้านบาท มีอัตราการเติบโตสูงถึงประมาณร้อยละ 5 ต่อปี นอกจากนี้ยังสามารถช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ชีวภาพในอุตสาหกรรมอื่น เช่น อุตสาหกรรมยา และอุตสาหกรรมวัสดุ ที่กำลังมีความต้องการของตลาดสูงขึ้นตามนโยบาย BCG (Bio-Circular-Green) Economy Model ของประเทศอีกด้วย
ดร.จิตติศักดิ์ ทิ้งท้ายว่า ในตอนนี้ Smart-BIOact พร้อมแล้วที่จะให้บริการแก่ผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชีวภาพใหม่หรือพัฒนากระบวนการผลิตของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิม ทั้งในรูปแบบการรับจ้างวิจัย (Contract research) และการให้คำปรึกษา โดยในอนาคตทีมวิจัยยังมีแผนที่จะเปิดให้บริการใช้แพลตฟอร์มในรูปแบบ Subscription และ Licensing อีกด้วย หากคุณกำลังมองหาแพลตฟอร์มที่จะช่วยในการค้นหาสารสำคัญ ลดเวลาทำวิจัย เพื่อประโยชน์สูงสุดในการลงทุน ‘Smart-BIOact’ คือคำตอบ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.