สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงนามข้อตกลง (MOU) บูรณาการความร่วมมือทางวิชาการด้านการติดตาม ตรวจวัดกัมมันตภาพรังสีในสิ่งแวดล้อมของไทยจากกิจกรรมทางนิวเคลียร์และรังสีทั้งภายในภายนอกประเทศ เพื่อความปลอดภัยสูงสุดแก่ประชาชนและสิ่งแวดล้อม
นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เปิดเผยว่า เมื่อปี พ.ศ. 2559 ปส. และ ทช. มีความร่วมมืออันดีในการประสานความร่วมมือในการบริหารจัดการสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีในอากาศและใต้น้ำ ของ ปส. ในจังหวัดระยองและภูเก็ต รวมไปถึงการเก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมทางทะเลจากอ่าวไทยและทะเลอันดามัน สำหรับการตรวจวัดกัมมันตภาพรังสีและประเมินผลกระทบทางรังสีต่อระบบนิเวศทางทะเลของประเทศไทย ดังนั้น เพื่อเป็นการบูรณาการการดำเนินงานให้การตรวจวัดกัมมันตภาพรังสีในสิ่งแวดล้อม มีความครบถ้วนสมบูรณ์ ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ทั้งสองหน่วยงานจึงลงนามความร่วมมือทางวิชาการด้านการติดตาม ตรวจวัดกัมมันตภาพรังสีในสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ระยะที่ 2 ขึ้น ระหว่างนายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ร่วมกับนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง การประเมิน และการป้องกันผลกระทบทางรังสีที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนไทย จากกิจกรรมทางด้านนิวเคลียร์และรังสี
ปส. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยจากการใช้พลังงานนิวเคลียร์และรังสีของประเทศ ได้จัดตั้งเครือข่ายสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีทั้งในอากาศและใต้น้ำขึ้น และดำเนินงานติดตาม ตรวจวัดกัมมันตภาพรังสีในระบบนิเวศทางทะเล เพื่อเฝ้าระวังภัยจากรังสีที่อาจจะมีผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมมาเป็นระยะเวลากว่า 60 ปีแล้ว โดยปัจจุบัน ปส. มีเครือข่ายสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีในอากาศและใต้น้ำ จำนวน 23 สถานี ทำหน้าที่เฝ้าตรวจระดับรังสีแกมมาตลอด 24 ชั่วโมง และส่งข้อมูลที่เป็นปัจจุบันมายังศูนย์เฝ้าระวังภัยทางรังสี ณ ปส. ซึ่งประชาชนสามารถติดตามการรายงานค่าระดับรังสีประจำวันเพิ่มเติมได้ที่ www.oap.go.th/offices/tech-support/btssr-monitoring
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองพัฒนาระบบและมาตรฐานกำกับดูแลความปลอดภัย สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โทรศัพท์ 0 2596 7600 ต่อ 4304 และ 4410
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.