สกสว. จัดเวทีเสวนาออนไลน์ “พลิกโฉมธุรกิจการเงินแห่งอนาคต ด้วยนวัตกรรมดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็น แผนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ด้านธุรกิจการเงิน การธนาคาร และ FinTech ของประเทศ
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดเวทีเสวนาออนไลน์รับฟังความคิดเห็นแผนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ ในธุรกิจการเงินและธนาคาร ในหัวข้อ “พลิกโฉมธุรกิจการเงินแห่งอนาคต ด้วยนวัตกรรมดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์” โดยมีผู้เชี่ยวชาญในแวดวงธุรกิจการเงิน หน่วยงานภาครัฐด้านอุตสาหกรรมใหม่ ตลอดจนนักวิจัยทั้งทางด้านเศรษฐศาสตร์ ธุรกิจการเงินและธนาคาร ด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ระบบอัตโนมัติ ระบบดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ เข้าร่วมประชุมรวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อรับฟังความคิดเห็นแผนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเงินและธนาคาร และธุรกิจเทคโนโลยีการเงิน (FinTech)
ดร.เอก จินดาพล ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านความสามารถในการแข่งขัน สกสว. กล่าวว่า สกสว. มีบทบาทสำคัญในการจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผน และกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ โดยมี หน่วยบูรณาการประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ หรือที่เรียกว่า Strategic Agenda Team (SAT) ในประเด็นต่าง ๆ รวบรวมองค์ความรู้อย่างเช่น ประเด็นเรื่องดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ โดยจะเห็นได้ชัดเจนว่าในปัจจุบัน เทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์เข้ามามีบทบาทกับชีวิตมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 เกิดผลกระทบมากมาย โดยธุรกิจการเงิน-การธนาคาร เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ ทำให้ในปัจจุบันมีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยหนุนเสริมประสิทธิภาพด้านการบริการทางการเงิน 3 ด้านหลัก คือ
1. การเพิ่มประสิทธิภาพ ที่ช่วยเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และลดต้นทุนในการบริการ
2. การเข้าถึงบริการ ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าในบางพื้นที่ หรือ บางกลุ่ม หรือ ในบางเวลา สามารถเข้าถึงการบริการได้อย่างไม่มีขีดจำกัด และยังเปิดโอกาสให้ SME เข้าถึงบริการเหล่านี้ด้วยต้นทุนที่ต่ำมาก ธนาคารเองก็สามารถนำ AI มาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์พฤติกรรมการชำระหนี้ของร้านค้าได้อย่างแม่นยำ และ
3. การเพิ่มภูมิคุ้มกัน โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การยืนยันตัวตน หรือการใช้ปัญญาประดิษฐ์เรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภค
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การวิจัยและนวัตกรรมด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ ในธุรกิจการเงิน การธนาคาร จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
ทางด้าน ดร.พรรคธาดา ตรีรัตนพิทักษ์ รองผู้อำนวยการ สำนักดาต้าอนาไลติกส์ ฝ่ายบริหารข้อมูลและดาต้าอนาไลติกส์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทย มีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามามีบทบาททั้งในเชิงนโยบายรวมถึงการบริหารงานภายใน เพื่อเพิ่มผลผลิตจากการทำงาน โดยจะเห็นได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลกระทบกับประชาชนในแง่ของการเข้าถึงแหล่งทุน โดยประเด็นดังกล่าวสามารถนำปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยแก้ปัญหาในธุรกิจการเงิน แบ่ง 4 ด้านหลัก ประกอบด้วย
1. ด้านการบริการลูกค้า ปัจจุบันสามารถนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการบริการตอบคำถามและให้บริการลูกค้า
2. วิเคราะห์สินเชื่อ ปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมการเงินแต่ละบุคคลซึ่งสามารถเข้ามาช่วยเหลือมนุษย์ในการตัดสินใจพิจารณา
3. การลงทุน ปัญญาประดิษฐ์สามารถวิเคราะห์ข้อมูลการลงทุนรูปแบบต่าง ๆ
4. การบริหารความเสี่ยง ปัญญาประดิษฐ์สามารถตรวจจับพฤติกรรมทางการเงินที่ผิดปกติ ป้องกันพฤติกรรมที่เข้าข่ายผิดธรรมาภิบาล ลดค่าใช้จ่าย สร้างการเติบโต เป็นโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ
โดยบริบทในประเทศไทย ปัญญาประดิษฐ์จะสามารถเข้าช่วยเหลือในมิติทางด้านสังคมอีกด้วย ช่วยให้บุคคลเข้าถึงแห่งทุนโดยการศึกษาข้อมูลเชิงพฤติกรรมทำให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยมีสิทธิที่จะเข้าถึงแห่งทุนมากขึ้น นอกจากนี้ ปัญญาประดิษฐ์ยังสามารถวิเคราะห์การประกันภัยในรูปแบบที่เหมาะสมกับแต่ละคน
นอกจากนี้ ในประเด็นเสวนายังมีการนำเสนอองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจการเงินในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการช่วยเสริมประสิทธิภาพ ทั้งการขยายฐานลูกค้าและการลดต้นทุนทั้งในระดับประเทศและระดับโลก โดย สกสว. จะนำข้อมูลที่ได้จากการเสวนาในวันนี้ไปประกอบการจัดทำแผนด้าน ววน. ของประเทศ เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ที่จะเข้ามาช่วยยกระดับการพัฒนาธุรกิจธนาคารในประเทศไทยต่อไป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.