กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ประสบผลสำเร็จวิจัยพัฒนา “AcAnes” ผลิตภัณฑ์เจลชาเฉพาะที่จากสารสกัดผักคราดหัวแหวน ระบุเป็นยาชาเฉพาะที่ในรูปแบบการทาภายนอก ช่วยระงับความรู้สึก ลดอาการเจ็บปวด มุ่งตอบโจทย์การเกิดผลข้างเคียงกับผู้ป่วยในการทำหัตถการ เช่น จี้หูด ไฝ กระ ชี้เป็นการเพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทยด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ช่วยลดการนำเข้าเวชภัณฑ์อย่างเป็นรูปธรรม
ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. ประสบผลสำเร็จในการวิจัยพัฒนา “AcAnes” ผลิตภัณฑ์เจลชาเฉพาะที่จากสารสกัดผักคราดหัวแหวน เป็นผลิตภัณฑ์เจลใสทาภายนอก ผ่านการประเมินความปลอดภัยต่อผิวหนังสัตว์ทดลอง โดยพบว่า ไม่ก่อให้เกิดความระคายเคืองและการแพ้ใดๆ นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาความพึงพอใจของการใช้ผลิตภัณฑ์ พบว่า มีระดับความพึงพอใจอยู่ที่ปานกลางถึงมาก ทั้งนี้ วว. ศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้จากพืชสมุนไพรที่มีศักยภาพในการระงับความรู้สึก ลดอาการเจ็บปวด เพื่อให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งแก่ผู้บริโภค โดยการนำผักคราดหัวแหวนมาศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา พบว่าสามารถบรรเทาอาการปวด (analgesic activity) และระงับความรู้สึก (anesthetic activity) ในสัตว์ทดลองได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เช่นเดียวกับยามาตรฐาน EMLA และยังมีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบที่ใบหูหนูขาวได้อย่างมีนัยสำคัญเช่นเดียวกับสารมาตรฐาน phenylbutazone
“...การใช้ยาเพื่อระงับความรู้สึกหรือยาชาเฉพาะที่เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้การรักษาโดยวิธีการผ่าตัดไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ในผู้ป่วยสำเร็จลุล่วงด้วยดี ส่งผลให้การรับความเจ็บปวดลดลง วิธีที่นิยมใช้ในปัจจุบันคือการฉีดยาชาเข้าที่บริเวณที่จะทำการผ่าตัดหรือทำหัตถการ แม้ว่าจะออกฤทธิ์ได้เร็ว แต่การใช้เข็มก็ทำให้เกิดความเจ็บปวด มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการใช้เข็มฉีดยา และอาจจะเป็นปัญหาสำหรับผู้ป่วยบางรายที่กลัวเข็ม ดังนั้นการใช้ยาชาเฉพาะที่ในรูปแบบการทาภายนอก จึงอาจจะเป็นทางออกที่ดี และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสมุนไพรไทยด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม วว.พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์นี้สู่เชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างทางเลือกให้กับการรักษาผู้ป่วยมากขึ้นและจะช่วยลดการนำเข้าเวชภัณฑ์อย่างเป็นรูปธรรม...” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ดร.กฤติยา ทิสยากร นักวิจัยอาวุโส วว. ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยกล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากยาชาเฉพาะที่ออกฤทธิ์โดยการรบกวนการส่งสัญญาณที่ระบบประสาทส่วนปลาย ทำให้การรับรู้ความรู้สึกในบริเวณเฉพาะที่ใช้ยาลดลง ส่งผลให้การรับความเจ็บปวดลดลง การใช้ยาเพื่อระงับความรู้สึกเพื่อการผ่าตัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งระงับความเจ็บปวด หรือการใช้ยาชาเฉพาะที่ในการผ่าตัดเล็กนั้น ผู้ป่วยแต่ละคนมีการตอบสนองต่อยานั้นๆ ต่างกัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา หรือเกิดเป็นภาวะแทรกซ้อนหลังการใช้ขึ้นได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน กระสับกระส่าย นอกจากนี้ วิธีการนำตัวยาเข้าสู่ร่างกายเพื่อให้ออกฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ การฉีดยาชาเข้าที่บริเวณที่จะทำการผ่าตัดหรือทำหัตถการใดๆ ซึ่งโดยทั่วไปยาชาเฉพาะที่อยู่ในรูปแบบของยาฉีดจะออกฤทธิ์ได้เร็ว เช่น lignocaine, chloroprocaine, prilocaine แต่อย่างไรก็ดี การใช้เข็มฉีดยาในการส่งผ่านยาชาเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เกิดความเจ็บปวดได้ทั้งในผู้ที่ทำศัลยกรรมตกแต่งเล็กน้อย เช่น จี้หูด ไฝ กระ รวมถึงในเด็กที่ต้องฉีดยาหรือวัคซีนต่างๆ และการใช้เข็มฉีดยาอาจจะเป็นปัญหาสำหรับผู้ป่วยบางคนที่กลัวเข็ม
“..ในการทดสอบประสิทธิภาพการออกฤทธิ์ของผลิตภัณฑ์เจลชาเฉพาะที่จากสารสกัดผักคราดหัวแหวน ได้ร่วมวิจัยกับศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ วว. พบว่า ภายหลังการทาในบริเวณที่จะรักษา เมื่อใช้ร่วมกับเครื่องนวดอัลทราโซนิกส์ เจลจะออกฤทธิ์ประมาณ 30 นาที หากไม่ได้ใช้กับเครื่องนวดฯ เจลจะออกฤทธิ์ในเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งเท่ากับระยะเวลาที่ใช้ยาทาภายนอกเพื่อให้เกิดอาการชาก่อนการทำหัตถการเล็กๆ ตามที่โรงพยาบาลหรือคลินิกทั่วไปใช้ มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพการรักษาในระดับที่มีนัยสำคัญ ทั้งนี้ วว. ได้ยื่นจดสิทธิบัตรผลงานวิจัยนี้เรียบร้อยแล้ว...” นักวิจัยอาวุโส วว. กล่าว
ผักคราดหัวแหวน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Spilanthes acmella L. Murr. องค์ประกอบทางเคมี ดอกและทั้งต้นมีสาร spilanthol มีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก อายุปีเดียว ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านสาขา สูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร หรือทอดไปตามดินเล็กน้อย แต่ปลายชูขึ้น ลำต้นกลมอวบน้ำ มีสีเขียวม่วงแดงปนเข้ม ลำต้นอ่อน มีขนปกคลุมเล็กน้อย ใบเป็นใบเดี่ยวใช้เป็นผักได้ ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบ และปลายกิ่ง เป็นกระจุกสีเหลือง ลักษณะกลม รูปไข่ ปลายแหลมคล้ายหัวแหวน ยาว 8 มิลลิเมตร ผล เป็นผลแห้งรูปไข่ ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร พบขึ้นทั่วไปในที่ลุ่ม ชื้นแฉะ และตามป่าละเมาะ ที่รกร้าง ที่ราบโล่งแจ้ง ใบ ใช้เป็นผักได้ สรรพคุณ ตำรายาไทย ใช้ ดอก มีรสเผ็ด ชาลิ้น เป็นยาขับน้ำลาย แก้อาการอักเสบในช่องปาก แก้อาการอักเสบ และเจ็บคอ เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ แก้ปวศีรษะ แก้คัน ราก ใช้เคี้ยวแก้ปวดฟัน ผล ปรุงเป็นยาแก้ร้อนใน เมล็ด เคี้ยวแก้ปากแห้ง เป็นยาขับน้ำลาย ในประเทศจีน นิยมนำไปสกัดใช้เป็นยาชา
วว. พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์ “AcAnes” ผลิตภัณฑ์เจลชาเฉพาะที่จากสารสกัดผักคราดหัวแหวน สู่เชิงพาณิชย์ ผู้ประกอบการที่สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. โทร. 0 2577 9000, 0 2577 9300 โทรสาร 0 2577 9009 อีเมล tistr@tistr.or.th
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.