กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)โดย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (สวพท.) พัฒนา“COVYD-19 Ab test kit (ELISA)”ชุดตรวจภูมิคุ้มกันโควิด-19 ด้วยเทคนิคELISAใช้งานง่าย รวดเร็ว แม่นยำ และราคาถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ อยู่ระหว่างการยื่นคำขอประเมินเทคโนโลยีจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และเริ่มมีการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อสนับสนุนการศึกษาวิจัยและพัฒนาในหน่วยงานภาครัฐ เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันเชื้อโควิด 19 จาการติดเชื้อหรือได้รับวัคซีน
ดร.พีร์ จารุอำพรพรรณ หัวหน้าทีมวิจัยไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี ไบโอเทค สวทช. เปิดเผยว่า“COVYD-19 Ab test kit (ELISA)” เป็นชุดตรวจภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโควิด-19 พัฒนาโดยทีมวิจัยไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี และทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ไบโอเทค สวทช.เป็นการนำองค์ความรู้เกี่ยวกับไวรัสโคโรนาของสุกรที่เป็นความเชี่ยวชาญเดิมของทีมวิจัยผนวกกับเทคโนโลยีที่เป็นแพลตฟอร์มพื้นฐานคือ ELISA มาพัฒนาต่อยอดได้ทันท่วงทีจึงทำให้ชุดตรวจนี้สำเร็จรูปพร้อมใช้งานสำหรับตรวจระดับแอนติบอดีต่อเชื้อก่อโรคโควิด-19 เชิงปริมาณ ที่สามารถใช้ตรวจระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อหรือการได้รับวัคซีน และได้ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (สวพท.-AFRIMS) ทดสอบคุณภาพชุดตรวจแอนติบอดีต่อ SARS-CoV-2 โดยมีการอนุเคราะห์ตัวอย่างซีรั่มมาทดสอบเปรียบเทียบกับชุดตรวจแอนติบอดีทั่วไปในท้องตลาด พบว่ามีความไวและความจำเพาะเทียบเท่ากัน รวมทั้งยังมีการสอบเทียบชุดตรวจตัวอย่างซีรั่มมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO เพื่อให้สามารถอ่านค่าแอนติบอดีในหน่วยมาตรฐานของ WHO ในขณะนี้ได้นำไปใช้งานในโครงการวิจัยระดับประชากรโดยร่วมกับคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตรวจระดับภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 ในบุคลากรสาธารณสุขมากกว่า 1,000 ตัวอย่าง
ดร.พีร์ อธิบายต่อว่า“COVYD-19 Ab test kit (ELISA)”ทางทีมวิจัยได้เลือกตรวจแอนติบอดีต่อส่วนที่สำคัญที่สุดของไวรัส เป็นส่วนที่ไวรัสใช้จับเข้าเซลล์มนุษย์ในการติดเชื้อ คือ Receptor Binding Domain หรือ RBD ที่อยู่บนโปรตีนสไปค์ (ส่วนที่เป็นหนาม) โดยมีการผลิตแอนติเจน RBD ด้วยวิธีการตัดต่อพันธุกรรมและการผลิตรีคอมบิแนนท์โปรตีนให้มีหน้าตาที่เหมือนกันกับโปรตีนของไวรัส แต่ไม่ได้ใช้ชิ้นส่วนจากไวรัสจริงๆ เพื่อความปลอดภัย จากนั้นนำแอนติเจน RBD มาเคลือบลงบนเพลท และใช้สารตรวจจับซึ่งมีปฏิกิริยาทำให้เกิดสี เมื่อนำตัวอย่างซีรั่ม หรือพลาสมา มาตรวจ ถ้าในตัวอย่างมีแอนติบอดีต่อRBD แอนติบอดีนั้นจะจับอย่างจำเพาะเจาะจงกับ RBD และถูกจับด้วยสารตรวจจับ และแสดงสัญญาณสีแต่หากในตัวอย่างซีรั่ม หรือพลาสมานั้นไม่มีแอนติบอดีที่จำเพาะต่อ RBD ก็จะไม่มีสีเกิดขึ้น”
“ขณะนี้ ทางทีมวิจัย สวทช. อยู่ในระหว่างการถ่ายทอดชุดตรวจแอนติบอดีต่อ SARS-CoV-2 ที่พัฒนาขึ้น ให้กับคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ได้เร็วที่สุดในช่วงเวลาวิกฤติ ในส่วนของชุดตรวจฯ ยังต้องใช้ตรวจในห้องปฏิบัติการ ไม่สามารถตรวจเองได้ เพราะยังต้องใช้เครื่องอ่านผล แต่ก็เป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่มีในห้องปฏิบัติการทั่วไป รวมถึงโรงพยาบาลขนาดกลาง เนื่องจากเป้าหมายการพัฒนาชุดตรวจแอนติบอดีในช่วงแรกเน้นเพื่อการตรวจวินิจฉัยส่วนบุคคลในระดับประชากร ที่มีตัวอย่างจำนวนมาก เพื่อใช้เป็นข้อมูลสถิติในการอ้างอิง ด้วยเชื่อว่าการตรวจเพื่อให้ทราบระดับของภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นในระดับประชากรจะเป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผนการบริหารวัคซีนและกำหนดมาตรการสาธารณสุขที่เหมาะสม จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อ และลดความรุนแรงของโรคได้ รวมทั้งสามารถวางแผนบริหารบุคลากรด่นหน้าได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย” ดร.พีร์ กล่าว.
ข้อมูล : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
เผยแพร่ข่าว : นายธัชนนท์ บุญหล้า
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
Facebook : @MHESIThailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.