1 กันยายน 2564 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) ผนึกพลังร่วมกับ บริษัท วีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่นส์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด (VNU) จับมือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน จัดพิธีเปิดงาน Bio Asia Pacific 2021 เต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติเป็นประธานพิธีเปิดงาน กล่าวรายงานโดย ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งได้รับเกียรติจาก ดร.สุวิทย์ คุณกิตติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, คุณวิกรม กรมดิษฐ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน), นายแพทย์ทวิราป ตันติวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) และ คุณมารุต บูรณะเศรษฐกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไบโอ เจเนเทค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (BGIC) ให้เกียรติเข้าร่วมงานและกล่าวสนับสนุนการจัดงาน และ คุณอนุชา พันธุ์พิเชฐ ผู้จัดการโครงการอาวุโส Thailand LAB INTERNATIONAL & Bio Asia Pacific บริษัท วีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่นส์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด กล่าวขอบคุณแขกผู้มีเกียรติทุกท่านและหน่วยงานภาครัฐ-เอกชนที่ให้ความร่วมมือในการจัดงาน Bio Asia Pacific ประสบความสำเร็จด้วยดีเสมอมา
ไฮไลท์ช่วงงานพิธีเปิด ช่วงบ่ายพบกับเสวนาพิเศษเนื่องในวาระครบรอบ 18 ปี TCELS หัวข้อ “ทิศทางของอุตสาหกรรมด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสุขภาพในประเทศไทยหลังโควิด-19” ร่วมเปิดมุมมองวิเคราะห์ทิศทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ หลังวิกฤตโควิด-19 และแนวโน้มการเติบโตอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย โดยได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, ดร.สุวิทย์ คุณกิตติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, นายแพทย์ธงชัย ทวิชาชาติ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และนายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดย ดร.นเรศ ดำรงชัย CEO บริษัท เจเนพูติก ไบโอ จำกัด และที่ปรึกษาบริษัท วีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่นส์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด
ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า “อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ (Life Sciences Industry) ในประเทศไทยซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรมยา (Pharmaceuticals) เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ (Medical Device and Equipment) เครื่องสำอาง-อาหารเสริม (Cosmetics and Food Supplement) และบริการสุขภาพ (Healthcare) มีมูลค่ามากกว่า 1.3 ล้านล้านบาท โดยมีปัจจัยหนุนมาจากความต้องการด้านการแพทย์และสุขภาพที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ขั้นตอนการค้นคว้าวิจัยจนถึงกระบวนการผลิต ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน ได้กลายเป็นตัวเร่งให้อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ ทั้งในด้านการค้นคว้าพัฒนาวัคซีน การผลิตยา นวัตกรรมเกี่ยวกับเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้ทิศทางของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ในประเทศไทยและของโลกมีแนวโน้มขยายตัวได้อีกมาก ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ยังเป็นในหนึ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตหรือ New S-Curve ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ในประเทศมีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด”
“ทีเซลส์ (TCELS) ได้เล็งเห็นโอกาสจากการเติบโตดังกล่าวและตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งด้านคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจ จึงได้ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน จัดงาน Bio Asia Pacific 2021 ขึ้น ภายใต้แนวคิด From Recovery to Resilience After COVID-19 โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ในทุกสาขาทั้ง Life Sciences, Bio Tech, Med Tech, Digital Health, Precision Medicine, Biopharma และ Smart Health Services เข้าสู่กระบวนการผลิตเชิงพาณิชย์ รองรับความต้องการของตลาดและมีส่วนในการขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในทุกมิติ หลังจากสถานการณ์โรคโควิด-19 คลี่คลาย รวมถึงมุ่งหวังขยายเครือข่ายความร่วมมือทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค ด้วยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือทางธุรกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานวิจัยเพื่อเข้าสู่การลงทุนในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก”
“โดยการจัดงาน Bio Asia Pacific 2021 ในครั้งนี้ มีกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ อาทิ การประชุมและสัมมนาออนไลน์ Virtual Conference โดยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญของไทยและนานาชาติ กับหัวข้อการสัมมนาที่หลากหลายและครอบคลุม อาทิ Thailand’s Life Sciences Industry Outlook after COVID-19 ทิศทางของอุตสาหกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพในประเทศไทย หลังโควิด-19, When Do We Get a First Shot of Homegrown COVID-19 Vaccines? วัคซีนโควิด-19 โดยคนไทย เราจะได้ฉีดเมื่อไร, Successful Development for mRNA Based Vaccines ความสำเร็จของการพัฒนาวัคซีน mRNA, Life Sciences Industry: Pathway to Stock Exchange of Thailand อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ : เส้นทางสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, Advanced Technology & Personalized Medicine for Cancer เทคโนโลยีขั้นสูงและการรักษาโรคมะเร็งเฉพาะบุคคล, Roles of Investors to stimulate the Medical and Health Industry after COVID-19 บทบาทของนักลงทุนในการกระตุ้นอุตสาหกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพหลังโควิด เป็นต้น”
ดร.ศิรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม “นอกจากนี้ ยังได้จัดนิทรรศการในรูปแบบ Virtual Exhibition จากหน่วยงาน องค์กรภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของงานวิจัย อัพเดทเทคโนโลยีและนวัตกรรมล่าสุดในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่สอดคล้องกับปัจจุบันและเตรียมพร้อมรองรับความต้องการในอนาคต ตลอดจนการจัดกิจกรรม Business Partnering และ Pitch & Partner เพื่อเชื่อมโยงให้เกิดการพบปะระหว่างผู้ผลิต ผู้ประกอบการ Health-Tech Startups นักลงทุนและองค์กรธุรกิจ เพื่อประสานความร่วมมือด้านต่างๆ ที่เอื้อต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ และเปิดโอกาสในการนำเสนอแนวคิดผลงานเพื่อแสวงหาแหล่งเงินทุนและพันธมิตรทางธุรกิจในการต่อยอดงานวิจัยสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ รวมถึงการจัดงาน i-MEDBOT Innovation Contest 2021 การประกวดเฟ้นหาสุดยอดผลงานหุ่นยนต์ทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของนวัตกรและยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยในด้านการบริการทางแพทย์และสุขภาพอีกด้วย จากกิจกรรมทั้งหมดในงานครั้งนี้ เราเชื่อมั่นว่าจะมีส่วนช่วยให้เกิดความร่วมมือและช่วยขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ในประเทศและในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
“การจัดงาน Bio Asia Pacific 2021 ในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET), สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพไทย (ThaiBIO) สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (Pharmaceutical Research and Manufacturers Association: PReMA) เป็นต้น จากการจัดงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ผ่าน Virtual Exhibition & Conference อย่างเต็มรูปแบบในครั้งนี้ จะช่วยให้ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยคาดว่าจะมีผู้ลงทะเบียน เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน ตลอดระยะเวลา 3 วันของการจัดงาน” ดร.ศิรศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
ลงทะเบียนเข้าร่วมงานฟรี : www.bioasiapacific.com
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ : info@bioasiapacific.com
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.