บริษัท เอสดับบลิว เฮลธ์แคร์ จำกัด นำโดย คุณศศิธร สุระกุล ผอ.ฝ่ายขายและการตลาด ร่วมกับ บริษัท ฟาร์ม่าเฮอร์เบิล จำกัด นำโดย คุณสกล เหนียนเฉลย และ ศ.เกียรติคุณ ดร.ปทุมรัตน์ ตู้จินดา ที่ปรึกษา ร่วมบริจาคสารสกัดกระชายขาว PMH แบบแคปซูล จำนวน 999 กระปุก หรือ จำนวน 29,970 เม็ด ในโครงการ “การทดสอบประสิทธิผลและความปลอดภัยของสารสกัดกระชายขาวในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์” ซึ่งเป็นโครงการประเภทคืนประโยชน์ให้สังคม (CSR) สารสกัดกระชายขาว PMH แบบแคปซูลนี้ เป็นผลิตภัณฑ์จากผลงานวิจัยที่ร่วมกันระหว่าง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา (ECDD) มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่สามารถต่อยอดผลงานวิจัยที่ทีมวิจัยค้นพบว่าสารสำคัญในกระชายขาวอุดมไปด้วยสารออกฤทธิ์ต้านไวรัสและยับยั้งเชื้อไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผลักดันผลงานวิจัยให้สามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการควบคุมปริมาณสารสำคัญ ได้แก่ สารพิโนสโตรบิน (Pinostrobin) และสารแพนดูราทิน เอ (Panduratin A) และผ่านการประเมินความปลอดภัยอาหารใหม่ จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อีกทั้งยังเป็นความหวังใหม่ในการรับมือกับโควิด โรคอุบัติใหม่ได้ต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) เป็นผู้ดำเนินโครงการและสนับสนุนงบประมาณผ่านมหาวิทยาลัยมหิดล มีการจัดการบริหารงบประมาณ โดยศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมี ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ เป็นหัวหน้าโครงการ โดยทำงานร่วมกับ ผศ.นพ.ฉัตรชัย มิ่งมาลัยรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ และ ดร.สิทธิรักษ์ รอยตระกูล ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อดำเนินการวิเคราะห์และสร้างกระบวนการใหม่ในการยืนยันการติดเชื้อ ติดตามสายพันธุ์และการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 รวมทั้งการตรวจโควิดจีโนมที่ยังสมบูรณ์ (complete genome) แพร่เชื้อได้ และซากไวรัส (fragmented genome) ที่ไม่แพร่เชื้ออีกต่อไป รวมถึงการใช้เทคนิคการตรวจลายพิมพ์เปปไทด์เพื่อระบุกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อ ผู้ป่วยอยู่ระหว่างการหายจากการติดเชื้อ และผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อ ประกอบกับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ เป็นสถานที่รองรับผู้ป่วยจำนวนมาก รวมถึงมีความพร้อมด้านการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่สามารถดำเนินการยื่นขอรับการรับรองจริยธรรมการวิจัยในคนเพื่อทดสอบประสิทธิผลและความปลอดภัยของสารสกัดกระชายขาวในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ โครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 เดือน และได้เริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา
โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ฉัตรชัย มิ่งมาลัยรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์, ศาสตราจารย์ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์, ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์และคณะผู้บริหารศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ ให้เกียรติเข้ารับมอบ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564 ณ โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.