รมว.อว. นำทีมธัชชาลงพื้นที่แหล่งประวัติศาสตร์ ลพบุรี-เพชรบูรณ์ เสวนาวิชาการ บูรณาการศาสตร์ วิทย์-ศิลป์
ตั้งเป้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (creative economy) สู่ระดับโลก
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงฯ รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงฯ ผู้บริหารวิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา) และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ร่วมลงพื้นที่ปฏิบัติงานในพื้นที่แหล่งประวัติศาสตร์และเสวนาวิชาการธัชชา ณ จังหวัดลพบุรี และจังหวัดเพชรบูรณ์ ระหว่างวันที่ 15-17 ตุลาคม 2564 โดยลงพื้นที่ปฏิบัติงานในแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว จังหวัดลพบุรี พื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ แหล่งแร่ทองแดง/แร่เหล็ก เขาทับควาย เมืองโบราณบ้านพรหมทินใต้ และบ้านหลวงรับราชทูต (บ้านวิชาเยนทร์) จังหวัดลพบุรี
รมว.อว. เปิดเผยว่า กระทรวง อว. ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะใช้เวลาประมาณ 10 ปีที่จะทำให้กระทรวงช่วยขยับประเทศไทยให้เริ่มเข้าสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วให้ได้ การจะขยับประเทศต้องขยับด้วยการเดินสองขา ขาหนึ่งคือขาของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อีกขาหนึ่งคือขาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ศิลปวัฒนธรรม อว. ในยุคปัจจุบันนี้เราสนใจทั้ง 2 เรื่อง ทั้งเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิทยาการแบบสมัยใหม่ ขณะเดียวกันก็เป็นกระทรวงที่เน้นเรื่องประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปะวัฒนธรรมด้วย เราต้องตระหนักว่าเราเป็นประเทศที่โลกจัดให้เป็นประเทศที่มีมรดกทางวัฒนธรรมดีเป็นอันดับ 6-7 ของโลก บรรพบุรุษของเราลงทุนมหาศาลจึงออกมาเป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุ เป็นเรื่องราวต่างๆ และเป็น DNA ของพวกเรา ในเรื่องเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ บันเทิง ความอยู่ดีกินดี จิตวิญญาณ ความพักผ่อน วิชาโบราณคดี วิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่สำคัญมาก และไม่ควรปล่อยให้อยู่ในมือนักโบราณคดีวิชาชีพ หรือนักประวัติศาสตร์อาชีพเท่านั้น ควรจะอยู่ในความสนใจของพวกเราให้มากที่สุด เพราะโบราณคดี และประวัติศาสตร์จะทำให้เรามีจิตวิญญาณที่กว้างขึ้น ใหญ่ขึ้น สูงขึ้น ทำให้เราทำอะไรเห็นอดีต ได้ภูมิใจในชาติ
การที่ได้ไปเห็นโบราณสถานต่างๆ ทั้งเมืองลพบุรีและศรีเทพซึ่งล้วนแต่เป็นโบราณสถาณที่มีความสง่างาม สะท้อนเห็นเห็นถึงวิทยาการทางศิลปวัฒนธรรม ซึ่งช่างส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ขณะเดียวกันก็เป็นช่าง เป็นศิลปินด้วย คนไทยมี DNA ที่เป็นศิลปิน ศิลปะ ช่าง อยู่ในตัวสูงมาก ถ้ามองแบบนี้ได้ เราก็จะไม่ได้ทำแค่เรื่องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่ถ้านำคนไทยซึ่งเป็นเกษตรกรที่อยู่ในเศรษฐกิจพอเพียง หรือพ้นจากความพอเพียงมาแล้ว นำมาทำให้เกิดเป็นเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ให้มาก ก็จะทำให้เขามีรายได้เร็วที่สุด สามารถเป็นผู้ที่ผลิตรายได้ที่สูงได้
“อว. ตอนนี้มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ คือวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ต้องเดินไปด้วยกัน อย่างมั่นคง อยากให้พวกเราได้ตระหนักร่วมกันคือ เรารวมกันเป็นกระทรวงได้สำเร็จจริงๆ เพราะว่าในที่สุดเราได้ทำโครงการหลายๆโครงการที่ทำให้เห็นว่าเราขยับไปด้วยกันทั้งกระทรวง เกือบทุกหน่วยงานของกระทรวงมีบทบาท มหาวิทยาลัยทุกที่มีบทบาท และได้รับคำชื่นชมจากคนที่มองอยู่มากมาย รวมทั้งสื่อสารมวลชนด้วย” รมว.อว. กล่าวในตอนท้าย
การเสวนาวิชาการ “ธัชชา” มีการจัดเสวนาในสองหัวข้อ ได้แก่ หัวข้อ โบราณคดีก็มีอนาคต : ดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ ประวัติศาสตร์ มีผู้ร่วมเสวนาประกอบไปด้วย ดร.ศรันย์ โปษยจินดา ผู้อำนวยการสถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ, ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และ ดร.อุเทน วงษ์สถิติ อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และหัวข้อ พัฒนาการ ความสำคัญ ความยิ่งใหญ่ของเมืองโบราณศรีเทพ มีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบไปด้วย รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี รศ.ดร.สฤษดิ์พงษ์ ขุนทรง หัวหน้าภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และ ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.ชวลิต ขาวเขียว คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้ดำเนินรายการ
ข้อมูลข่าว : วีนัส แก้วประเสริฐ
ถ่ายภาพ : อินทิรา บัวลอย
เผยแพร่ข่าว : ปราณี ชื่นอารมณ์
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2610 5241-47 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.