ที่ อ.บางแพ จ.ราชบุรี - ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และคณะ เข้าเยี่ยมชม วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตมะม่วงส่งออกอำเภอบางแพ จ.ราชบุรีผู้ผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองและมะม่วงอาร์ทูอีทู ที่ได้รับการช่วยเหลือจากกระทรวง อว. โดยโปรแกรม ITAP (ไอแทป) ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ในการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โดยการนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาห้องบ่มและการทดสอบประสิทธิภาพการบ่มผลมะม่วงเชิงพาณิชย์ เพื่อลดการใช้ถ่านแก๊สและเอทีฟอน หันมาใช้แก๊สเอทิลีนเพื่อบ่มแทนซึ่งภายหลังการพัฒนาห้องบ่มแก๊สเอทิลีน พบว่า ธุรกิจสามารถลดต้นทุนในการบ่ม 1 รอบการผลิต (8 เดือนต่อปี) มากถึง 536,424 บาท ตลอดจนเกิดเป็นเทคโนโลยี 7 ดี (2 ลด 2 เพิ่ม 3 ดี)ที่สามารถต่อยอดไปใช้ในการบ่มผลไม้ทุเรียนและผลไม้อื่น ๆ ต่อไป
ดร.นันทิยา วิริยบัณฑร ผู้อำนวยการโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า แต่เดิมชุมชนผู้ผลิตมะม่วงส่งออกอำเภอบางแพ จ.ราชบุรี ใช้การบ่มมะม่วงแบบดั้งเดิมคือ ใช้ถ่านแคลเซียมคาร์ไบด์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมที่ใช้กันมายาวนาน แต่พอมาทำในเชิงพาณิชย์พบว่ามีข้อจำกัดหลายด้าน เช่น มีของเสียจำนวนมาก เนื่องจากไม่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมในการบ่มได้ ทำให้ไม่สามารถคุมคุณภาพผลผลิตได้ รวมถึงการบ่มแบบเดิมใช้แรงงานคนจำนวนมาก มีขั้นตอนในการห่อถ่านแคลเซียมคาร์ไบด์และการกรุตะกร้า ซึ่งผู้ประกอบการประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ นอกจากนี้ การบ่มแบบเดิมใช้ก้อนถ่านแคลเซียมคาร์ไบด์ ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นแก็สแคลเซียมคาร์ไบด์ ที่มีความเป็นพิษกับคนงานและไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บางประเทศไม่ยอมรับ
ฉะนั้น เมื่อได้รับโจทย์จากผู้ประกอบการคือ คุณราเชนทร์ สุขหวานอารมณ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตมะม่วงส่งออกอำเภอบางแพ จึงได้จัดหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางคือ อ.พีรพงษ์ แสงวนางค์กูล นักวิจัยชำนาญการ ศูนย์เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เข้ามาช่วยเหลือ โดยทาง ITAP เป็นผู้ประสานงานตลอดระยะเวลาโครงการ และได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการบางส่วนตามหลักเกณฑ์
ด้าน อ.พีรพงษ์ แสงวนางค์กูล ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ ITAP สวทช. กล่าวถึงเทคโนโลยีที่ใช้ในโครงการ ว่า ในการพัฒนาการบ่มผลไม้ด้วยการใช้เอทิลีน ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นฮอร์โมนพืช ได้ทำการศึกษาวิจัยเพื่อหาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการบ่มมะม่วง ทำให้ได้ผลการศึกษาความเข้มข้นของแก๊สเอทิลีนที่เหมาะสมต่อการสุกของผลไม้แต่ละชนิด โดยจากการเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการบ่ม 1 รอบการผลิต (8 เดือนต่อปี)
พบว่า ส่วนต่างค่าใช้จ่ายในการบ่ม 1 รอบการผลิตจากการใช้ก้อนแคลเซียมคาร์ไบด์ มาเป็นห้องบ่มแก๊สเอทิลีน สามารถลดต้นทุนได้มากถึง 536,424 บาท โดยผลกระทบที่ได้จากการโครงการห้องบ่มและเทคนิคการบ่มผลไม้ สามารถจำแนกเป็นประโยชน์ 7 อย่าง หรือเทคโนโลยี 7 ดี (2 ลด 2 เพิ่ม 3 ดี) ได้แก่ ลดต้นทุน ลดการเน่าเสีย เพิ่มคุณภาพและมูลค่าผลผลิต เพิ่มระยะเวลาวางจำหน่าย สะอาดไม่มีสารเคมีตกค้าง: ดีต่อผู้ปฏิบัติงาน ดีต่อผู้บริโภค และดีต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ จะมีการขยายผลงานวิจัยการบ่มด้วยแก๊สเอทิลีนในทุเรียนและผลไม้ต่าง ๆ ต่อไป
“ผลที่เกิดขึ้นจากการที่ อว. เข้าไปช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชนในโครงการนี้ ได้ช่วยแก้ไขข้อจำกัดด้านกำลังคน การลดของเสีย และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงช่วยให้มียอดขายเพิ่มมากขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว ตลอดจนยกระดับเป็นสินค้าพรีเมียมได้อีกด้วย นับเป็นตัวอย่างโครงการที่ อว. สนับสนุนผู้ประกอบการและเกษตรกรให้เข้มแข็งได้อย่างแท้จริง” ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวทิ้งท้าย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.