เยาวชนตัวแทนประเทศไทย ‘ทีมอินเดนเทชัน เออเร่อ’จากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศระดับเอเชีย เอาชนะเยาวชนคู่แข่งจาก 8 ประเทศ โดยสามารถทำคะแนนเป็นอันดับ 1 จากการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee ของ NASA บนสถานีอวกาศนานาชาติ ในโครงการคิโบะ โรบอต โปรแกรมมิ่ง ชาเลนจ์ ครั้งที่ 2
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ได้สนับสนุนเยาวชนทีมอินเดนเทชัน เออเร่อ (Indentation Error) จากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี โดยสมาชิกในทีม 3 คน ประกอบด้วย นายธฤต วิทย์วรสกุล ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 (หัวหน้าทีม) นายกรปภพ สิทธิฤทธิ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และเด็กชายเสฎฐพันธ์ เหล่าอารีย์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเป็นทีมชนะเลิศจากการแข่งขัน โครงการ The 2nd Kibo Robot Programming Challenge รอบชิงแชมป์ประเทศไทย เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงแชมป์เอเชียผ่านทางออนไลน์
โดยในวันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม 2564 เวลา 11.00 น. ที่ผ่านมา องค์กรสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ JAXA ได้จัดการแข่งขันโครงการ The 2nd Kibo Robot Programming Challenge รอบชิงแชมป์เอเชียทางออนไลน์ ถ่ายทอดสดจากศูนย์อวกาศสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น โดยมีนักบินอวกาศญี่ปุ่นทำหน้าที่ควบคุมการแข่งขันอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ เพื่อค้นหาสุดยอดทีมเยาวชนจากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ทำคะแนนได้สูงที่สุดในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee ให้ปฏิบัติภารกิจซ่อมแซมสถานีอวกาศ โดยมีตัวแทนเยาวชนจาก 9 ประเทศ เข้าร่วมการแข่งขัน ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย บังคลาเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ไต้หวัน และไทย
ผลการแข่งขันปรากฏว่า ทีมอินเดนเทชัน เออเร่อ จากประเทศไทย สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ Best Achievement Onboard Award มาครองได้สำเร็จ ถือเป็นการแสดงความสามารถในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วยภาษา JAVA ควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee ผู้ช่วยนักบินอวกาศของ NASA ที่อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติให้เคลื่อนที่ไปอ่าน QR Code และยิงแสงเลเซอร์เข้าเป้าหมายทำคะแนนได้สูงสุดของการแข่งขัน
ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวแสดงความยินดีกับทีมอินเดนเทชัน เออเรอ (Indentation Error) และขอบคุณน้อง ๆ ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในเวทีระดับภูมิภาคเอเชีย จากความตั้งใจของน้องๆ เมื่อได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทย ทาง สวทช. ได้ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำในการเตรียมตัวเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันชิงแชมป์เอเชีย ได้ช่วยประสานงานกับทาง JAXA ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการเตรียมตัวและการฝึกซ้อมสำหรับการแข่งขัน ซึ่งจากความสำเร็จของน้อง ๆ ในครั้งนี้ สวทช. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าน้องทั้งสามคนจะได้เรียนรู้ ได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่า และมีโอกาสที่ดี ได้แบ่งปัน ต่อยอด และถ่ายทอดให้กับเพื่อน ๆ และน้อง ๆ เยาวชนไทยรุ่นต่อไป และเชื่อมั่นว่าน้องทั้งสามคนจะเป็นกำลังสำคัญในอนาคตของประเทศไทย
ด้าน นายธฤต วิทย์วรสกุล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ตัวแทนทีม Indentation Error กล่าวถึงความรู้สึกหลังทราบผลการแข่งขันว่า “รู้สึกดีใจและตื่นเต้นมาก เพราะรู้สึกประหม่าไปเหมือนกัน เมื่อเห็นผลการรันโปรแกรมของทีมอื่นๆ ที่ออกมาดี สามารถควบคุมให้หุ่นยนต์ Astrobee เคลื่อนที่ไปอ่าน QR code และยิงเลเซอร์ไปยังเป้าหมายได้ ผมคิดว่าที่ทีมเราสามารถชนะเลิศได้เพราะสามารถบังคับหุ่นยนต์ Astrobee ให้เคลื่อนที่ได้เร็วกว่าทำให้คะแนนออกมาดี ผมต้องขอขอบคุณ JAXA ที่จัดการแข่งขันนี้ขึ้นมา และขอบคุณ สวทช. ที่จัดการแข่งขันในประเทศไทยพร้อมทั้งสนับสนุนทีมเราเป็นอย่างดีในการมาร่วมแข่งขันรอบชิงแชมป์เอเชีย ทีมเราได้เรียนรู้หลายเรื่องในการเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee ที่ใช้งานบนสถานีอวกาศนานาชาติ และต้องขอขอบคุณทุกๆ คนที่มีส่วนผลักดันให้การแข่งขันครั้งนี้เป็นจริงขึ้นมาได้
ทั้งนี้ ทีมอินเดนเทชัน เออเร่อ สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศมาครอง ด้วยคะแนน 28.86 pt (A Class) ส่วนทีมอันดับที่ 2 ได้แก่ ทีม Enigma Systems จากบังคลาเทศ คะแนน 19.16 pt (A Class) และทีมอันดับที่ 3 ได้แก่ ทีม GeminiPYTW จากไต้หวัน (C Class) สามารถรับชมการแข่งขันย้อนหลังได้ทาง YouTube ของ JAXA ที่ลิงก์
ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวความเคลื่อนไหวโครงการกิจกรรมวิทยาศาสตร์อวกาศสำหรับเยาวชน ได้ที่เว็บไซต์ https://www.nstda.or.th/jaxa-thailand และแฟนเพจ NSTDA SPACE Education
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.