ผู้อำนวยการ สกสว. เข้าร่วมประชุมชี้แจงความคืบหน้าการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ในการประชุมวุฒิสภาสมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ณ อาคารรัฐสภา (เกียกกาย)
เมื่อเร็ว ๆ นี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เข้าร่วมการประชุมวุฒิสภาเกี่ยวกับการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศและการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติแต่ละด้าน ในการประชุมวุฒิสภาสมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ณ อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) ที่จัดขึ้นเพื่อให้กรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาได้สอบถามความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ แต่ละด้านจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง
สำหรับการประชุมครั้งนี้ สกสว. ได้ร่วมชี้แจงข้อมูลการทำงานของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในประเด็น “การปฏิรูปบทบาทการวิจัยและระบบธรรมาภิบาลของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางอย่างยั่งยืน” เพื่อตอบข้อคำถามสำคัญ 2 ข้อ คือ
1. ปัจจุบันกระทรวง อว. มีแนวทางหรือนโยบายในการสร้างความสมดุลระหว่างการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และการวิจัยที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์อย่างไรบ้าง และ
2. กระทรวง อว. มีนโยบายในการสนับสนุนให้การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเป็นไปเพื่อการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างไรบ้าง
โอกาสนี้ ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวให้ข้อมูลต่อที่ประชุมวุฒิสภาครั้งนี้ว่า ปัจจุบันถือเป็นระยะเวลา 2 ปีครึ่งแล้ว ที่ประเทศไทยมีการปรับโครงสร้าง ปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ รวมถึงเกิดกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ส่วนหนึ่งของการทำงานคือเชื่อมโยงการทำงานด้านการอุดมศึกษาและการวิจัยให้สอดคล้องกัน สำหรับประเด็นเรื่องความสมดุลในการสนับสนุนงบประมาณวิจัยระหว่างด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาคุณภาพชีวิต และความสมดุลในการสนับสนุนงบประมาณวิจัยวิทยาศาสตร์และไม่ใช่วิทยาศาสตร์นั้น ขอให้ข้อมูลว่า ในการสนับสนุนการวิจัย เรามองชัดว่า “การวิจัยเป็นเครื่องมือสนับสนุนการพัฒนาประเทศ เพราะฉะนั้นโจทย์วิจัยต้องมาหลังโจทย์การพัฒนาประเทศ” กระบวนการทำงานนั้นเริ่มจากการศึกษาแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทประเทศ โดยส่วนในของด้านการวิจัยจะอยู่ในแผนแม่บทฉบับที่ 23 ซึ่งจะต้องตอบโจทย์แผนแม่บทอีก 22 ฉบับ ดังนั้น สกสว. จึงจัดทำแผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (แผน ววน.) ระยะปานกลาง (ระยะ 3 - 5 ปี) ขึ้นมาก่อน โดยยึดโยงกับตัวชี้วัดของแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
แผน ววน. ฉบับแรก เกิดขึ้นหลังมีการปฏิรูปเป็นแผนฉบับปี พ.ศ. 2563 – 2565 และปัจจุบัน สกสว.กำลังจัดทำแผน ววน. ฉบับที่ 2 (ระยะ 5 ปี) ปี พ.ศ. 2566 - 2570 ซึ่งจัดทำให้สอดคล้องกับหมุดหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 แผนปฏิรูปประเทศ ทิศทาง Megatrend ของโลก นอกจากนี้ยังมีการศึกษาความต้องการรายสาขากับภาคส่วนต่างๆ รวมถึงศึกษาความต้องการเชิงพื้นที่ทั้ง 6 ภูมิภาคภายใต้กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าแผน ววน. ใช้ข้อมูลจากหลายภาคส่วน ซึ่งปัจจุบันแผน ววน. ฉบับนี้ได้จัดทำเรียบร้อยและผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์แล้ว อยู่ในขั้นตอนนำเสนอ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการประกาศใช้ต่อไป จากการจัดทำแผนในรูปแบบและขั้นตอนนี้ จึงจะมีการจัดสรรงบประมาณ ผ่านกองทุนส่งเสริม ววน. “เพราะฉะนั้นการจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยต่อจากนี้ไป ไม่ใช่การจัดสรรให้กับโครงการอะไรก็ได้ แต่ต้องมีกรอบ มีทิศทางที่ชัดเจน โดยมีตัวชี้วัดว่าจะต้องส่งมอบงานรายปีและราย 3 ปีเป็นอย่างไร” นอกจากนี้ในช่วงสถานการณ์วิกฤตโควิด 19 สกสว. ได้จัดทำแผนวิจัยและสนับสนุบงบประมาณด้านการวิจัยที่เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ตามแนวนโยบายของคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) หรือบอร์ดบริหาร สกสว.
ดังนั้น การจัดสรรงบประมาณวิจัยของประเทศ จึงไม่ได้พิจารณาจากเพียงว่าเป็นสาขาวิทยาศาสตร์ หรือไม่ใช่วิทยาศาสตร์ แต่ดูที่ผลลัพท์ของงานเป็นตัวตั้ง อย่างเช่น การมุ่งเน้นผลลัพธ์ทางด้านเศรษฐกิจ จากการวิเคราะห์ข้อมูล จึงสนับสนุนทางด้านการแพทย์เป็นเรื่องหลัก รองลงมาคือเรื่องเกษตร พลังงาน เศรษฐกิจสร้างสรรค์และการท่องเที่ยว ระบบราง เอไอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศต้องการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ผลลัพธ์ที่ 2 คือการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและการพัฒนาเชิงพื้นที่รวมทั้งแก้ปัญหาประเทศ ผลลัพธ์ที่ 3 คือเรื่องการพัฒนาภาพอนาคตและกำลังคน โดยให้น้ำหนักการลงทุนทั้ง 3 ด้าน ในสัดส่วนใกล้เคียงกันคือ ร้อยละ 35 33 และ 32 ตามลำดับ จากสัดส่วนดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความพยายามในการรักษาสมดุลด้านการจัดสรรงบประมาณ โดยโครงการการวิจัยที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ จะอยู่ในผลลัพธ์ด้านที่ 2 การพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม อาทิ แผนงานแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ การสร้างนวัตกรรมชุมชน การสนับสนุนการพัฒนาเมืองที่เชื่อมโยงสู่ชนบท เป็นต้น
นอกจากนี้ขอให้ข้อมูลในประเด็นชั้นการทำงานคือ ปัจจุบัน กองทุนส่งเสริม ววน. ไม่ได้สนับสนุนงบประมาณให้กับนักวิจัยโดยตรงแต่จัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานในระบบวิจัย อย่างหน่วยบริหารจัดการทุน และหน่วยรับประมาณอื่นอีก 170 หน่วยงาน โดยเป็นมหาวิทยาลัย 90 หน่วยงาน 80 หน่วยงานในกระทรวงระดับกรม โดยมีหน่วยงานระดับกรมที่ทำงานด้านสังคมอยู่จำนวนไม่น้อย ทั้งสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพราะฉะนั้นภาพรวมของงานก็จะมีงานด้านพัฒนาสังคมไม่น้อยกว่าด้านวิทยาศาสตร์ เชื่อมั่นว่า สกสว. ให้ความสมดุลและให้ความสำคัญกับการพัฒนาในทุกมิติ โดยมีจุดมุ่งเน้นคือการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศได้จริง โดยทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายการพัฒนาต่าง ๆ
ท้ายที่สุดในมิติของธรรมาภิบาล สกสว. ขับเคลื่อนการทำงานโดยมีคณะกรรมการ 3 คณะ ประกอบด้วย
1. คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.)
2. คณะกรรมการอำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ
3. คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ทำหน้าที่ในการกำกับการทำงาน ตลอดจนปัจจุบันกำลังดำเนินการจัดทำระบบข้อมูลที่เปิดเผยข้อมูลจากโครงการวิจัย นักวิจัย จนถึงงบประมาณ เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อมูลและกระบวนการทำงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้
และในช่วงหลังการชี้แจงข้อมูล นายเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ กรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา ได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อให้ทาง สกสว. จัดเตรียมจัดข้อมูลสำหรับการนำเสนอความก้าวหน้าเพิ่มเติม ทั้งในส่วนของ
1. จำนวนโครงการวิจัย งบประมาณ รวมถึง ผลผลิต (Outcome) ผลกระทบ (Impact) ของโครงการวิจัยที่มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อมุ่งตอบเป้าหมายทั้ง 3 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ผลลัพธ์ทางด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและการพัฒนาเชิงพื้นที่ รวมถึงการพัฒนาภาพอนาคตและกำลังคน ตามที่ได้นำเสนอข้อมูล
2. เอกสารหลักเกณฑ์การแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะทำงานรวมทั้งในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิโครงการวิจัยต่างๆ ที่สอดคล้องตามธรรมาภิบาล ทั้งนี้ ทาง สกสว. ได้รับทราบข้อเสนอแนะดังกล่าว และจะจัดเตรียมข้อมูลที่ครบถ้วน มารายงานต่อที่ประชุมวุฒิสภาสมัยสามัญประจำปีในครั้งต่อไป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.