วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 พลเอกหญิง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานของที่ระลึกให้แก่หน่วยงานและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่ร่วมจัดงาน “วันนิทรรศการวิชาการ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า 2564” ระหว่างวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2564 ณ อาคารโรงเลี้ยงนักเรียนนายร้อย โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก จากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรผลงานทางวิชาการ โดยมี นายจรัญ ยะฝา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ และพนักงานสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เฝ้ารับเสด็จ
“นิทรรศการวิชาการ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า” จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัย ตลอดจนส่งเสริม พัฒนา และขยายความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า กับสถาบันการศึกษา หน่วยงานงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน โดยในปี 2564 นี้ มีสถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมจัดแสดงโครงการ ผลงาน และงานวิจัย รวม 27 หน่วยงาน ซึ่งสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) ได้นำเสนอผลงานทางวิชาการ ในหัวข้อ “การวัดย่านความถี่สูงเพื่อการสื่อสารยุค 5G” ซึ่งประกอบด้วยโครงการพัฒนาความสามารถทางการวัด 3 โครงการ คือ
1. ระบบปรับเทียบเวลามาตรฐานผ่านโครงข่ายดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งมอบเวลามาตรฐานประเทศไทย (Thailand Standard Time, TST) ไปยังผู้ต้องการใช้งานในแต่ละกลุ่มตามระดับความแม่นยำที่จำเป็น สามารถจัดหมวดหมู่ได้ ดังนี้ (1) การใช้งานทั่วไป ใช้ระดับความแม่นยำย่าน 1 millisecond (2) การใช้งานระดับให้บริการเทคโนโลยีสื่อสาร ใช้ระดับความแม่นยำย่าน 1 microsecond เช่น ระบบสื่อสาร 5G telecom profile และ (3) การใช้งานระดับกำกับดูแลเทคโนโลยีสื่อสารและความมั่นคง ใช้ระดับความแม่นยำย่าน 1 nanosecond เช่น การกำกับตลาดหลักทรัพย์ การกำกับระบบธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัล การวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบบอาวุธ
2. ระบบการวัดกำลังไฟฟ้าความถี่สูง (Electrical power in high frequency regimes) ที่ครอบคลุมการวัดในย่าน radio frequency และ microwave และ กำลังขยายไปสู่ย่าน millimetrewave ซึ่งจะรองรับระบบเรดาร์/โซน่าร์ การสื่อสารโทรคมนาคม 5G ใยแก้วนำแสง (optical fibre) ระบบระบบอาณัติสัญญาณสำหรับการเดินรถไฟ โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูง (GSM-R) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การแพทย์และเครื่องมือแพทย์
3. ระบบการเทียบเวลาด้วยสัญญาณจากระบบดาวเทียมนำทางสากล (Global Navigation Satellite System, GNSS) สำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านการระบุค่าพิกัดและเวลาของประเทศ ใช้ในงานด้านการระบุตำแหน่ง การนำทางและแผนที่ ทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ ระบบนี้มุ่งหมายที่จะผนวก หรือประสานเวลา (time synchronisation) ของโครงสร้างพื้นฐานด้านการระบุค่าพิกัดของประเทศกับโครงสร้างพื้นฐานด้านการกำหนดเวลาของประเทศ
โดยทั้งสามระบบนี้ มีมาตรฐานอ้างอิงร่วมกันคือ “มาตรฐานการวัดเวลาและความถี่” และ “มาตรฐานการวัดกำลังไฟฟ้าในรูปของความจุความร้อน”
สามารถ Download แผ่นพับ-การวัดย่านความถี่สูงเพื่อการสื่อสารยุค 5G ได้ที่ http://mx.nimt.or.th/?p=14382 และสามารถ Download Poster ทั้ง 5 แผ่นได้ที่ http://mx.nimt.or.th/?page_id=1598
#มว #สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ #nimt #นิทรรศการวิชาการ #จปร #โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า #5G #การวัดย่านความถี่สูงเพื่อการสื่อสารยุค5G
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.