กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ คณะทำงานกำหนดมาตรฐานการจัดทำเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัล (Digital Transcript) และ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) แถลงข่าว “อุดมศึกษาไทย สู่มิติใหม่ไปกับ Digital Transcript” เพื่อยกระดับการศึกษาไทยเข้าสู่ยุค Digital Transformation อย่างเป็นรูปธรรม เดินหน้าผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์หลังจากได้มีการเปิดโครงการนำร่องไปเมื่อปีที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกทั้งนิสิตนักศึกษา และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ลดภาระงานเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบเอกสาร รวมถึงลดงบประมาณของมหาวิทยาลัยในการออกเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบกระดาษได้อย่างสิ้นเชิง ด้วยการออกเอกสารในรูปแบบดิจิทัลได้สำเร็จ สอดรับการขับเคลื่อนแวดวงการศึกษาไทยสู่ยุคดิจิทัล โดยได้รับเกียรติจาก ศ. ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. เป็นประธานในพิธีเปิดงานพร้อมทั้งมอบเกียรติบัตรแก่มหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมให้บริการ Digital Transcript ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล กล่าวว่า ความสำเร็จของความก้าวหน้าด้านการศึกษาไทยในวันนี้ เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานในทุกด้านอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สนับสนุนประเด็นด้านมาตรฐานและเทคนิคต่างๆ คณะทำงานกำหนดมาตรฐานการจัดทำเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัล (Digital Transcript) ร่วมผลักดันให้เกิดมาตรฐาน Digital Transcript สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานร่วมกัน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่ร่วมสนับสนุนการใช้งาน Digital Transcript และสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมดำเนินการ จนสามารถให้บริการเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัล (Digital Transcript) ที่มีความปลอดภัยและน่าเชื่อถือ เพื่อให้บริการแก่นิสิตนักศึกษา ช่วยลดภาระ ลดเวลาและขั้นตอนของหน่วยงานในการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเอกสารสำคัญทางการศึกษา รวมถึงช่วยป้องกันการปลอมแปลงวุฒิการศึกษา ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในเอกสารและอำนวยความสะดวกแก่หน่วยงานของภาครัฐและภาคเอกชนที่จำเป็นต้องใช้เอกสาร Transcript ให้เสมือนเอกสารต้นฉบับหรือฉบับจริง
ถือเป็นก้าวสำคัญในการปรับเปลี่ยนกระบวนการและร่วมกันผลักดันการศึกษาไทยก้าวสู่ยุค Digital Transformation อย่างเต็มรูปแบบต่อไป โดยจะเริ่มให้บริการ Digital Transcript แก่ผู้สำเร็จการศึกษาในปี 2563 และปีการศึกษา 2564 ที่จะถึงนี้ โดยมีสถาบันอุดมศึกษากลุ่มแรกที่จัดทำและพร้อมให้บริการเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัล (Digital Transcript) แล้ว จำนวน 39 แห่ง และมีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้าร่วมสนับสนุนการใช้งาน Digital Transcript แล้วกว่า 16 หน่วยงาน ภาครัฐสามารถพัฒนาข้อมูลจาก Digital Transcript ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อใช้ในมิติของการวิเคราะห์สถานการณ์กำลังคนในสาขาวิชาต่างๆ รวมไปถึงการติดตามประเมินผล เพื่อนำไปสู่การวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดงานและความต้องการของประเทศในทุกมิติ อันจะนำไปสู่การพัฒนาให้เป็น Thailand Skill Portal ต่อไปในอนาคต โดยที่การดำเนินการจัดทำ Digital Transcript เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่จะสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างโอกาสให้กำลังคนคุณภาพของประเทศเข้าสู่การแข่งขันในตลาดแรงงานระดับโลกได้
“อว. มีนโยบายชัดเจนในการปรับเปลี่ยนกระบวนการบริหารงานและการให้บริการของหน่วยงาน รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดให้เป็นรูปแบบดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นิสิต นักศึกษา ประชาชน และหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทยุทธศาสตร์ แผนปฏิรูปประเทศ รวมทั้งบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการออกเอกสาร Digital Transcript เป็นการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม และในอนาคตเมื่อสถาบัน อุดมศึกษาใช้ Digital Transcript ครบทุกแห่ง ก็จะเป็นมิติใหม่ของการศึกษาระดับอุดมศึกษาในรูปแบบดิจิทัล ที่จะนำไปสู่การพัฒนาการให้บริการด้านการศึกษา ควบคู่ไปกับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” รอง ปอว. กล่าวในตอนท้าย
เขียนข่าว : วีนัส แก้วประเสริฐ
ถ่ายภาพ : อินทิรา บัวลอย
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2610 5241-47 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailan
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.