7 ธันวาคม 2564 : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการบริหารจัดการ การผลิต การลดผลกระทบด้านภัยพิบัติ สิ่งแวดล้อม รวมถึงการบริหารสถานการณ์ต่างๆ และโรคอุบัติใหม่ในโรงงานอุตสาหกรรม โดยมี รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวง อว. และนายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีและกล่าวร่วมแสดงความยินดี ณ ห้องประชุมซิกม่า โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ ถนนรางน้ำ กรุงเทพมหานคร
รองปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า ในช่วงสองปีที่ผ่านมาประเทศไทยเจอกับภาวะวิกฤตบ่อยครั้ง ทั้ง ภาวะวิกฤตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และมีวิกฤตซ้ำซ้อนที่เกิดขึ้น อาทิ เหตุการณ์โรงงานสารเคมีระเบิด สิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้เกิดภาวะวิกฤตซ้ำซ้อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคแรงงานของอุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานภาครัฐที่จะต้องบูรณาการซึ่งกันและกัน
ข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องสำคัญในการตัดสินใจในภาวะวิกฤตต่างๆที่เกิดขึ้น โดยข้อมูลจาก GISTDA เป็นข้อมูลที่มาจากอวกาศ ทำให้เห็นภาพกว้าง การเคลื่อนไหวของลม ความกดอากาศ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะมาช่วยในการวางแผน ตัดสินใจ และบริหารจัดการปัญหาที่เป็นภาวะวิกฤตให้ดีมากยิ่งขึ้น สำนักงานการวิจัยแห่งชาติเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณให้เกิดการบูรณาการข้อมูลในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการทำงานร่วมกัน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการร่วมมือลักษณะนี้จะเกิดมากขึ้นเรื่อยๆเพื่อประโยชน์แก่ภาคประชาชน ภาคสังคม และประเทศชาติต่อไป รองปลัดกระทรวง อว. กล่าวในตอนท้าย
การร่วมมือในครั้งนี้ทั้ง 3 หน่วยงานจะร่วมกันประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศในการศึกษา วิจัย พัฒนา และจัดทำฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ รวมถึงส่งเสริม และพัฒนาองค์ความรู้ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อการพัฒนาต้นแบบการเฝ้าระวังและลดผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินจากภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตกับโรงงานขนาดใหญ่ที่มีแรงงานจำนวนมาก โดยการพัฒนาต้นแบบดัวกล่าว จะสามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับได้และมีความทันสมัยเป็นปัจจุบัน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานอย่างทันท่วงที อีกทั้งยังใช้กำหนดมาตรการป้องกันการควบคุมสถานการณ์การแพร่กระจายและลดผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ซึ่งเป็นการทำงานแบบบูรณาการเพื่อการบริหารจัดการโรงงานอุตสาหกรรมทางด้านสิ่งแวดล้อม การอุตสาหกรรม สารเคมีและวัตถุอันตราย ความปลอดภัย การลดผลกระทบด้านภัยพิบัติสิ่งแวดล้อมทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ รวมถึงการบริหารสถานการณ์ต่างๆทั้งโรคอุบัติใหม่ที่มีต่อโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศได้ทันต่อเหตุการณ์สามารถวางแผน พัฒนา ติดตามและแก้ไขปัญหา โดยทั้ง 3 หน่วยงานจะร่วมกันสร้างความร่วมมือกัน โดย วช. จะส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงทรัพยากรที่มีความจำเป็น เพื่อส่งเสริมการศึกษาวิจัยในการกำหนดมาตรการในการบริหารจัดการการลดผลกระทบทั้งด้านภัยพิบัติต่างๆ รวมถึงโรคอุบัติใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในโรงงานอุตสาหกรรมอย่างทันสถานการณ์
เขียนข่าว : วีนัส แก้วประเสริฐ
ถ่ายภาพ : เจษฏา วณิชชากร
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2610 5241-47 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailan
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.