สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เผยผลการดำเนินตามแผนวิจัยโปรแกรมที่ 17 หลังเกิดวิกฤติโควิด 19 ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2563 ภายใต้การทำงานของ สกสว. และหน่วยบริหารจัดการทุน (พีเอ็มยู) พร้อมเดินหน้าแผนวิจัยแก้ปัญหาที่สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน และปัญหาเร่งด่วนอื่นของประเทศ
ศาสตราจารย์ ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ประธานกรรมการอำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ สกสว. ครั้งที่ 12/2564 ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ เพื่อหารือความคืบหน้าในการดำเนินงานด้านต่างๆ ของ สกสว. รวมถึง ผลการดำเนินงานตามแผนงานการวิจัยภายใต้โปรแกรมที่ 17 แก้ปัญหาวิกฤติเร่งด่วนของประเทศ หลังเกิดวิกฤติโควิด-19 ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2563 ภายใต้การจัดสรรงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของ สกสว. และการดำเนินงานของหน่วยบริหารจัดการทุน (พีเอ็มยู)
รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวให้ข้อมูลว่า คณะกรรมการส่งสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กสว.) มีมติในการประชุม กสว. ครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 อนุมัติให้มีการเพิ่มโปรแกรมการแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศ เป็นโปรแกรมที่ 17 ภายใต้แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติขนาดใหญ่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อใช้ความรู้ การวิจัยและนวัตกรรม คาดการณ์ปัญหา จัดการกับภาวะวิกฤติของประเทศได้อย่างทันท่วงที ช่วยลดความเสียหายและบรรเทความเสียหายในระยะสั้น และเพื่อให้มีการเตรียมการที่ดี สามารถบริหารจัดการประเทศและสังคมหลังภาวะวิกฤติ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งให้ความสำคัญกับการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและการแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศที่เป็นปัญหาเร่งด่วน ทำให้ประเทศไทยมีความสามารถในการจัดการและฟื้น ตัวอย่างมีประสิทธิภาพ (Resilience) มีศักยภาพในการพึ่งตนเองด้านความรู้ กำลังคนและโครงสร้างพื้นฐานด้าน ววน. โดยในส่วนของการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรมโควิด 19 นั้น มีการวางเป้าหมายระดับประเทศไว้ ประกอบด้วย
1. วางประเด็นวิจัยสำคัญและเร่งด่วน
2. สร้างความเข้มแข็งในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมให้พร้อมต่อการนำไปใช้ประโยชน์
3. มีมาตราการเชิงรุกเข้าสู่หน่วยงานภาคปฏิบัติและหน่วยงานการใช้ประโยชน์
4. การแก้ปัญหาเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ให้พร้อมรองรับสถานการณ์โควิด 19
5. ผลสำเร็จของงานวิจัย มีผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพของประเทศ
โดยมีกลไกการบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม ทั้งหมด 3 ชุด ได้แก่
1. คณะทำงานขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรม ประเด็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
2. คณะทำงานร่วมดำเนินการหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม ประเด็นปัญหาวิกฤติสำคัญของประเทศ และ
3. คณะกรรมการดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ประเด็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ทั้งนี้ในช่วงปีพ.ศ. 2563 – 2564 ที่ผ่านมา มีผลงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ช่วยแก้ปัญหาวิกฤติโควิด-19 ที่นำไปสู่การใช้ประโยชน์จริงทั้งงานวิจัยด้านเวชภัณฑ์เพื่อวินิจฉัยและรักษา งานวิจัยด้านการป้องกันควบคุมและการดูแลรักษาผู้ป่วย งานวิจัยด้านวัคซีนต้านไวรัส งานวิจัยด้านการระบาดวิทยาและเชื้อไวรัส รวมถึงงานวิจัยด้านสังคมและเศรษฐกิจ อาทิ หน้ากากอนามัย ชุดป้องกันเชื้อโรคสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ห้องความดันติดลบแบบเคลื่อนย้ายได้ ห้องแยกผู้ป่วยที่แพร่กระจายเชื้อทางอากาศแบบถอดประกอบได้ อุปกรณ์ Smart Pulz Platform การดูแผู้ป่วยออนไลน์สำหรับโรงพยาบาล การสังเคราะห์มาตรการและนโยบายของรัฐบาล เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 งานวิจัยวัคซีน ChulaCov19 การถอดรหัสพันธุกรรม SARS-Cov-2 และการพัฒนาแบบจำลองบูรณาการระบบการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นต้น นอกจากนี้ในปีงบประมาณ 2564 สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ในฐานะหน่วยบริหารและจัดการทุน (พีเอ็มยู) และองค์กรที่มีพันธกิจส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาการวิจัยการเกษตร ยังได้เสนอเพิ่มแผนงานใหม่ “แผนงานการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนจากการระบาดโรคในสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญ กรณี โรคลัมปีสกิน” ภายใต้โปรแกรม 17 การแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศ พร้อมขอรับงบประมาณเพิ่มเติมระหว่างปี (Reprogramming) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และได้รับการอนุมัติจาก กสว. แล้วในการประชุม กสว. ครั้งที่ 10/2564 เมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา
โดยในที่ประชุมวันนี้ คณะกรรมการได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ถึงแนวทางการจัดแผนงานการวิจัยภายใต้โปรแกรมที่ 17 แก้ปัญหาวิกฤติเร่งด่วนของประเทศ โดยมุ่งเน้นการทำงานแบบคาดการณ์อนาคต ให้ครอบคลุมและสร้างความพร้อมกับประเทศ เพื่อให้แผนวิจัยดังกล่าว มีความยืดหยุ่นและปรับให้สอดคล้องกับการแก้ปัญหาต่างๆอย่างทันท่วงที ดังเป้าประสงค์ที่ออกแบบไว้แต่แรก
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.