13 ธันวาคม 2564 : รองศาสตราจารย์ ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการเนคเทคประจำปี 2564 หรือ NECTEC Annual Conference and Exhibitions 2021 (NECTEC–ACE 2021) ภายใต้แนวคิด “ฐานรากเทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาไทยก้าวหน้า” มุ่งเน้นด้าน “Digital Transformation for Sustainable Manufacturing and Services” จัดโดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ และหน่วยงานพันธมิตรเอกชน เพื่อยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เป้าหมายเพื่อแสดงผลงานทางด้านนวัตกรรมการผลิตและบริการที่ยั่งยืน ซึ่งสามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาและประยุกต์ใช้งานได้จริงในสายการผลิต พร้อมเปิดตัวศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) ตอบโจทย์การผลิตยุคใหม่ พัฒนาไทยสู่ Industry 4.0 ณ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
รองปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า อุตสาหกรรมคือแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อภาคเศรษกิจของไทย แต่ในช่วงที่ผ่านกลับเติบโตช้าลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความสามารถด้านแข่งขันและความเข้มข้นของการใช้เทคโนโลยีเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของอุตสาหกรรมไทย ประกอบกับสถานการณ์จากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเร่งด่วน นอกเหนือจากการลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังต้องมีการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง พร้อมต่อการแข่งขันภายหลังจากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย บวกกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับสายการผลิตเพื่อยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 ในปัจจุบันได้เข้ามาช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ตามแนวทางการพัฒนาประเทศ Thailand 4.0 ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนได้ถึง 10-40 % และสร้างรายได้ 10-20 % แต่ผู้ประกอบการยังขาดความรู้ความเข้าใจในการประยุกต์ใช้ อุตสาหกรรม 4.0
ดร.พาสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า จากเหตุผลดังกล่าวจึงได้กำหนดแนวทางในการสนับสนุนผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการ SME ให้สามารถยกระดับองค์กรให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างสอดคล้องกับทิศทางธุรกิจ พร้อมรองรับการเข้าสู่ยุคความปกติใหม่หลัง COVID-19 ขึ้น อย่างเป็นระบบ โดยใช้แนวทางบันได 3 ขั้น ขั้นแรก คือ การประเมินความพร้อมในปัจจุบัน และการจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องดำเนินการตามทิศทางของธุรกิจ (Initiation) ขั้นสอง การจัดทำแผนดำเนินการและการจัดหาเทคโนโลยีโซลูชั่น (Solutioning) และขั้นที่สาม การติดตั้งเทคโนโลยีโซลูชั่นและการประยุกต์ใช้งานในโรงงาน (Implementation & Operation) เมื่อภาคอุตสาหกรรมของไทยสามารถประเมินความพร้อมได้ จะทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกจำนวนหนึ่งที่จะเป็นประโยชน์ในการพิจารณากำหนดนโยบายหรือมาตรการช่วยเหลือและกระตุ้นผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม ในการยกระดับความพร้อมของสถานประกอบการให้เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 และสามารถนำไปใช้ในการวางแผนการพัฒนากำลังคนอุตสาหกรรม และการพัฒนา Technology Solution Provider/System Integrator (SI) ให้มีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการ ซึ่งจะช่วยทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการ ในการยกระดับเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ต่ำลง และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น อีกทั้งยังจะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะของประเทศไทยให้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ และสอดคล้องกับอุปสงค์ของภาคอุตสาหกรรมในประเทศอีกด้วย.
เขียนข่าว : เจษฏา วณิชชากร
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2610 5241-47 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailan
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.