สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กรมอุตุนิยมวิทยา และ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดงานประชุมวิชาการ “Thailand Weather and Climate Symposium ครั้งที่ 1 ปี 2564” ในวันที่ 16 - 17 ธันวาคม 2564 หนุนความเข้มแข็งงานวิจัย ด้านความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบต่อสภาพอากาศ และเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว ที่นำไปสู่การคาดการณ์สภาพอากาศ พร้อมตั้งรับการเกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในมิติต่างๆที่เกิดขึ้นจริง
เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กรมอุตุนิยมวิทยา และ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดงานประชุมวิชาการ “Thailand Weather and Climate Symposium ครั้งที่ 1 ปี 2564” ในวันที่ 16-17 ธันวาคม 2564 เพื่อเป็นเวทีสำคัญในการนำเสนอผลงานวิจัย ด้านความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบต่อสภาพอากาศ และเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว ตลอดจนการแสดงนำเสนอความก้าวหน้าด้านกระบวนการเชิงนวัตกรรมที่ช่วยวิเคราะห์เหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้วได้มีดียิ่งขึ้น โดยมี นายมาร์ค กูดดิ้ง (Mark Gooding OBE) เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมด้วย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดงานครั้งนี้
รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า ประเทศไทยประสบกับภัยพิบัติทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง และอื่น ๆ ที่เป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาเป็นระยะเวลานาน ปัจจุบันนักวิจัยจากหลายภาคส่วนทั้งในมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างเล็งเห็นถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหา เพื่อเตรียมพร้อมตั้งรับวิกฤต จึงได้พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ทั้งด้านการวัด การคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ ตลอดจนเรื่องอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาดังกล่าวที่สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) สกสว. ในฐานะหน่วยงานของประเทศไทย ที่มีหน้าที่ในการจัดทำแผน จัดสรรงบประมาณตลอดจนพัฒนาและสนับสนุนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ระบบ ววน.) ตระหนักดีถึงปัญหาเรื่อง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและระดับโลก โดยจะนำข้อมูลและองค์ความรู้อันเป็นประโยชน์ในวันนี้ไปขับเคลื่อนการทำงานต่อไป โดยเฉพาะในมิติของการทำแผนด้าน ววน. การออกแบบโปรแกรมวิจัยที่สนับสนุนการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยต่อไป
ด้าน ดร.วัฒนา กันบัว ผู้อำนวยการกองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ปริมาณน้ำฝนและอุณหภูมิของอากาศ ส่งผลให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเกิดการหยุดชะงัก สร้างสูญเสียทรัพย์สิน และการเสียชีวิต เป็นส่วนหนึ่งของอันตรายทางธรรมชาติที่ทำลายล้างมากที่สุดที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจให้หลายๆประเทศ โดยเมื่อหลายปีก่อน ปริมาณน้ำฝนจากพายุและภัยพิบัติ สร้างมูลค่าความเสียหายรวมเป็นพันล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันแนวทางการตั้งรับปัญหานี้ อาศัยการคาดการณ์ด้วยความสามารถในการสังเกตที่มากขึ้น ทั้งผ่านการคำนวณและฟิสิกส์แบบจำลองที่ดีขึ้น แต่ก็ยังมีช่องว่างที่สำคัญสำหรับการปรับปรุง ปัจจุบัน “AI” หรือ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ข้อมูล โดยเฉพาะการใช้ Machine Learning หรือ ระบบคอมพิวเตอร์สามารถประมวลผล คาดการณ์ ตัดสินปัญหาต่าง ๆ ด้วยตนเองผ่านการเรียนรู้ชุดข้อมูลที่ป้อนเข้าไป ได้เข้ามาเชื่อมโยงช่องว่างระหว่างแบบจำลองพยากรณ์อากาศแบบตัวเลขและคำแนะนำแบบ Realtime โดยการปรับปรุงความแม่นยำ นอกจากนี้ AI ยังประมวลผลจนได้ข้อมูลที่ สนับสนุนการตัดสินใจเพิ่มเติมสำหรับผู้พยากรณ์และผู้ใช้ ดังนั้นการใช้เทคนิค AI ควบคู่ไปกับความเข้าใจทางกายภาพของสิ่งแวดล้อม นั้นสามารถช่วยพัฒนาทักษะการทำนายอย่างมากสำหรับน้ำฝนที่มีผลกระทบสูงหลายประเภทจากพายุหมุนเขตร้อน (TC) นอกจากนี้ AI ยังมีส่วนช่วยสนับสนุน โมเดล Support Vector Machine (SVM) หรือ อัลกอริทึมที่ช่วยแก้ปัญหาการจำแนกข้อมูล ส่งผลให้การทำนายปริมาณน้ำฝนค่อนข้างได้ผลลัพธ์ดี ด้วยเหตุนี้ปัจจุบันประเทศไทยจึงใช้แนวทางที่มีอยู่ร่วมกับเทคนิค AI เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล การวิเคราะห์ การประมวลผลที่ส่งผลให้การพยากรณ์ การคาดการณ์ทั้งปริมาณน้ำฝนและอุณหภูมิ ที่มีศักยภาพมากขึ้น
นอกจากนี้การประชุมวิชาการดังกล่าวยังได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญจาก Met Office หน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาของสหราชอาณาจักร และนักวิจัยทั้งจากมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และหน่วยงานต่างๆทั้งในและต่างประเทศอีก มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และงานวิจัยเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ผลต่อสภาพอากาศ และเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว อีกด้วย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.