กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) ร่วมกับ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model สาขายาและวัคซีน, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, ศูนย์การผลิตเซลล์และยีนบำบัด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (EC ATMPs) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมเนื้อเยื่อและเทคโนโลยีเซลล์บำบัด, บริษัท ซีไอพี แวลู จำกัด และบริษัท เจเนพูติก ไบโอ จำกัด ได้เข้าร่วมงานประชุมเชิงปฎิบัติการแผนปฏิบัติการและแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในกลุ่มผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (Advanced Therapy Medicinal Products; ATMPs) ในประเทศไทย ในวันพุธที่ 23 มีนาคม 2565 เวลา 9.00 น.- 12.10 น. โดยผ่านระบบออนไลน์ Microsoft Teams
โดย รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ประธานคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนแผนงานการส่งเสริมบริการทางการแพทย์ด้วยผลิตภัณฑ์การรักษาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ภายใต้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model สาขายาและวัคซีน ให้เกียรติกล่าวเปิดงานประชุม และสรุปภาพรวมการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model สาขายาและวัคซีน พ.ศ. 2565–2570
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม กล่าวว่า “การประชุมเชิงปฎิบัติการแผนปฏิบัติการและแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในกลุ่มผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (Advanced Therapy Medicinal Products; ATMPs) ในประเทศไทย ที่จัดขึ้นในวันนี้ ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) และคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model ได้มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model สาขาเป้าหมายทั้งหมด 11 สาขา เพื่อนำพาประเทศไปสู่ Thailand 4.0 โดยอนุกรรมการการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model สาขายาและวัคซีน เป็นหนึ่งในด้านที่นโยบาย BCG ให้ความสำคัญ โดยขอบเขตการดำเนินการ BCG สาขายาและวัคซีน ครอบคลุมสาขาการดำเนินงาน 4 ด้าน ได้แก่
1. วัคซีน
2. ยา สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม (Active Pharmaceutical Ingredients หรือ API) และชีววัตถุ
3. ผลิตภัณฑ์การรักษาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง (Advanced Therapy)
4. บริการด้านจีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยำ
โดย BCG สาขายาและวัคซีน ได้กำหนดเป้าหมาย คือ“เพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งตนเอง ขยายฐาน ธุรกิจการให้บริการและการเพิ่มความสามารถในการส่งออกผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและการแพทย์ด้วยการ วิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม บนพื้นฐานแนวคิดการส่งเสริมธุรกิจที่ดำเนินการโดยเอกชนไทย เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันทัดเทียมกับธุรกิจข้ามชาติขนาดใหญ่ สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและ เป็นฐานการผลิตในสถานการณ์ฉุกเฉินและจำเป็นของประเทศ” การดำเนินการตามเป้าหมายดังกล่าวจะทำให้ประเทศเพิ่ม GDP จาก 40,000 ล้านบาท เป็น 90,000 ล้านบาท ภายในปี 2024 ลดภาระค่าใช้จ่ายด้าน การแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ ลดการนำเข้ายาและวัคซีนไม่น้อยกว่า 7,500 ล้านบาทต่อปี ลดความ เหลื่อมล้ำในการเข้าถึงยาและวัคซีนราคาแพงมากกว่า 300,000 คน นำไปสู่การสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ ในทุกสถานการณ์ ทั้งยามปกติและเมื่อเกิดภาวะระบาด”
รศ.นพ.สรนิต กล่าวเพิ่มเติมว่า “ดังนั้น คณะอนุกรรมการ BCG สาขายาและวัคซีน จึงมีคำสั่งแต่งตั้ง“คณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนแผนงานการส่งเสริมบริการทางการแพทย์ด้วยผลิตภัณฑ์การรักษาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง (Advanced Therapy Medicinal Products : ATMPs)” ภายใต้การทำงานร่วมกันของกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงาน กำหนดกลยุทธ์และเสนอแนะโยงนโยบายของแผนงาน โครงการการส่งเสริมบริการทางการแพทย์ด้วยผลิตภัณฑ์การรักษาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง (Advanced Therapy Medicinal Products; ATMPs)” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญ ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model สาขายาและวัคซีน พ.ศ. 2565 – 2570 โดยมุ่งเน้นให้ประเทศไทยเกิดธุรกิจ บริการทางการแพทย์ด้วยผลิตภัณฑ์การรักษาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงขึ้นในประเทศ สร้างเศรษฐกิจจากเทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูง และสนับสนุนให้ประเทศเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติตามนโยบาย Medical Hub โดยกำหนดเป้าหมาย และตัวชี้วัด 4 ประการ ได้แก่
1. เกิดธุรกิจบริการรักษาทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศ เพื่อให้ผู้ป่วยในประเทศสามารถเข้าถึงบริการการรักษาด้วยเทคโนโลยีดังกล่าว รวมถึงมีการสนับสนุนการร่วมลงทุน การรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการแพทย์ และสนับสนุนประเทศเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติตามนโยบาย Medical Hub
2. โครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนา ผลิตและบริการด้าน ATMPs ที่ได้มาตรฐาน GMPs อย่างน้อย 2 แห่ง
3. การปลดล็อก กฎ ประกาศ ระเบียบ มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการใช้และให้บริการ ATMPs
4. หลักสูตรการเรียนการสอน ด้านการพัฒนา ATMPs ตลอดห่วงโซ่ในโรงเรียนแพทย์
การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมความคิดเห็น ในการจัดทำกรอบแผนปฎิบัติการและแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในผลิตภัณฑ์ ATMPs โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงที่มีศักยภาพแบบมุ่งเป้า ทั้งผลิตภัณฑ์ที่เกิดการการวิจัยพัฒนาเองในประเทศ และการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ในระดับคลินิก ให้ผ่านการขึ้นทะเบียน ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์และเข้าสู่กระบวนการเชิงธุรกิจ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรมและบริการถ่ายทอด เทคโนโลยีทางการแพทย์ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลและคำแนะนำจากทุกท่านจะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ ที่สามารถร่วมผลักดันการขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (Advanced Therapy Medicinal Products ; ATMPs) ไปสู่การต่อยอดการพัฒนาเพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมและบริการ ภายใต้ BCG Model ที่ได้รับการยอมรับตามมาตรฐานนานาชาติ ซึ่งจะผลักดันเป้าหมายให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป” รศ.นพ.สรนิต กล่าวปิดท้าย
โดยการประชุมครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเป็นอย่างดี ที่ร่วมกันผลักดันแผนการทำงาน โครงการการส่งเสริมบริการทางการแพทย์ด้วยผลิตภัณฑ์การรักษาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง (Advanced Therapy Medicinal Products; ATMPs) ไปสู่วัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
ช่วงเช้าหลังจากเปิดงานประชุม รศ.ดร.นพ. พงศกร ตันติลีปิกร ประธานหน่วยบูรณาการประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ ววน. ด้านการแพทย์และสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้กล่าวถึง วัตถุประสงค์การประชุมเชิงปฏิบัติการในวันนี้ ต่อจากนั้นเริ่มเข้าสู่ช่วงเวลาการประชุมเชิงปฏิบัติการ โดยดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ ได้พูดถึงทิศทางและแผนการดำเนินงานในการพัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์ ATMPs และเข้าสู่หัวข้อ การพิจารณาแผนยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ATMPs การนำเสนอภาพรวมโดยสรุป โครงการการศึกษาแนวทางการจัดลำดับความสำคัญงานวิจัยด้านผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง กลุ่มผลิตภัณฑ์ยา และกลุ่มเครื่องมือแพทย์ ร่วมกับ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ATMPs โดย ศ.ดร.นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคุณเมธา จารัตนากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีไอพี แวลู จำกัดต่อด้วยหัวข้อ การยกระดับและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน ATMPs : โครงสร้างพื้นฐานของภาคเอกชน นำเสนอในที่ประชุมโดย ดร.กิตติพงษ์ เอื้อสุนทราชุน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์ บริษัท เจเนพูติก ไบโอ จำกัด, ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (EC ATMPs) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดย ดร.ชัยยง โกยกุล, The DMSc ATMP Facility โดย ดร.นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมเนื้อเยื่อและเทคโนโลยีเซลล์บำบัด Centre for Tissue Engineering and Cell therapy (CTEC) โดย ศ.นพ.มล.ชาครีย์ กิติยากร คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และ ศูนย์การผลิตเซลล์และยีนบำบัด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดย อ.นพ.กรมิษฐ์ ศุภพิพัฒน์ ผู้อำนวยการด้านการแพทย์
ปิดท้ายด้วยการหารือ แผนปฏิบัติการและแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในกลุ่ม ATMPs ของประเทศไทย โดยการระดมสมองหารือ (ร่าง) แผนปฎิบัติการและแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ในผลิตภัณฑ์ ATMPs และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น วิทยากรดำเนินการประชุมโดย รศ.ดร.นพ.พงศกร ตันติลีปิกร และ ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.