8 เมษายน 2565 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดงานสัมมนา Research to Market (R2M) in Medical Innovation Forum ณ โรงแรมวี กรุงเทพ–เอ็มแกลเลอรี่ (ไฮบริด) เพื่อแลกเปลี่ยนทิศทางการวิจัยด้านการแพทย์ หวังผลักดันงานวิจัยด้านการแพทย์สู่ตลาด จากหิ้งสู่ห้าง เกิดการต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์
โดย H.E. Helene Budliger Artieda เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ และ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงานสัมมนา
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า “กระทรวง อว. ให้การสนับสนุนงานวิจัย และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย เพื่อปลดล็อคความเป็นเจ้าของงานวิจัยและนัตกรรม ให้เกิดการต่อยอด และใช้งานได้จริง จึงได้ผลักดันพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 พ.ร.บ. ฉบับใหม่ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญ ทำให้เกิดการก้าวกระโดดของเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม สร้างศักยภาพให้กับงานวิจัยไร้ขีดจำกัด เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศเติบโต ส่งผลให้ประชาชนมีชิวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและมีรายได้สูงขึ้น”
ทางด้าน รศ.ดร.นพ.พงศกร ตันติลีปิกร ประธานหน่วยบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์ ววน. ด้านการแพทย์และสาธารณสุข สกสว. ได้เปิดมุมมองถึงทิศทางการสนับสนุนการวิจัยด้านการแพทย์ในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า โดยมุ่งเน้นงานวิจัยด้านเครื่องมือแพทย์ ด้านสมุนไพร การแพทย์จีโนมิกส์ สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG Model และมีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยที่ร่วมกันผลักดันงานวิจัยด้านการแพทย์และเภสัชภัณฑ์ที่รักษาโรคมะเร็ง อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ส่วนงาน Roche Pharma Partnering บริษัท โรช จำกัด ได้นำเสนอรูปแบบ หรือโมเดลการทำงานร่วมกับภาควิจัยนวัตกรรมด้านการแพทย์ และแลกเปลี่ยนมุมมองของภาคอุตสาหกรรมถึงทิศทางด้านการแพทย์ ที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมแรงร่วมใจในการผลักดันงานวิจัยให้เกิดการต่อยอดก้าวสู่ตลาดเชิงพาณิชย์
การจัดงานครั้งนี้ ถ่ายทอดโดยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้มาตรการป้องกันโรค ตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.