(21 เมษายน 2565) ศ.ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมความร่วมมือเขตเศรษฐกิจเอเปค (Asia Pacific Economic Cooperation - APEC) มุ่งส่งผ่านความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ขั้นสูงในการประยุกต์ใช้ประโยชน์เพื่อนำไปพัฒนาประเทศสู่ความรุ่งเรืองและยั่งยืน ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy)
นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เปิดเผยว่า สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เป็นเจ้าภาพจัดประชุม APEC หัวข้อ “Policy and Innovation for Nuclear Science and Technology” ภายใต้กรอบความร่วมมือ APEC’s Policy Partnership on Science, Technology and Innovation (PPSTI) ในวันที่ 21 – 22 เมษายน 2565 ณ โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ ในรูปแบบ Hybrid Meeting โดยมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ นักวิจัย ผู้ปฏิบัติงานด้านนิวเคลียร์ และผู้สนใจทั่วไป ทั้งไทยและต่างประเทศเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 400 คน โดย highlight หลักของการประชุมครั้งนี้ผู้เข้าร่วมจะได้ทราบถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในทางสันติที่ทันสมัยในปัจจุบัน เช่น การนำนิวเคลียร์และรังสีมาประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์ รวมถึงการผลิตวัคซีนเพื่อตอบสนองสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบัน การนำอิเล็กตรอนบีมมาปรับปรุงพันธุ์พืช การศึกษาเรื่องไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมเทคโนโลยีซินโครตรอน การศึกษาวิจัยพลังงานจากฟิวชัน
ยิ่งไปกว่านี้ ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดยังจะได้ใช้โอกาสนี้เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาระเบียบ แนวปฏิบัติ คู่มือการปฏิบัติงาน ในการกำกับดูแลการใช้ประโยชน์ด้านนิวเคลียร์และรังสีในทางสันติของประเทศ รวมถึงรวบรวมข้อมูลอันเป็นประโยชน์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดทำและปรับปรุงนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการใช้ประโยชน์จากนิวเคลียร์และรังสีสำหรับการพัฒนาและประยุกต์ใช้ในงานด้านต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืน เชื่อมโยงครบทุกมิติ อันจะส่งผลให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ใช้งาน ประชาชน สิ่งแวดล้อม รวมถึงเกิดการผลักดันและสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศภายใต้โมเดล BCG ให้ประเทศและพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจเอเปคได้รับการพัฒนาสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้อย่างยั่งยืน สอดรับกับหัวข้อหลักของการประชุมเอเปค คือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ “Open. Connect. Balance.”
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.