(2 มิถุนายน 2565) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) และสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการพัฒนาหน่วยวัดแห่งชาติ โดยให้ ปส. เป็นตัวแทนในกิจกรรมด้านมาตรวิทยาสาขารังสีก่อไออน ในระดับประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาหน่วยวัดแห่งชาติในสาขารังสีก่อไอออนให้เกิดความเข้มแข็ง สามารถถ่ายทอดค่ามาตรฐานสู่ผู้ใช้งานภายในประเทศครอบคลุมทุกขอบข่ายการใช้งานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการพัฒนาหน่วยวัดแห่งชาติ ร่วมกับนางอัจฉรา เจริญสุข ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารมาตรธำรง สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ โดยมีผู้บริหารทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นสักขีพยาน โดยการลงนามในครั้งนี้ ปส. และ มว. มีเจตนารมณ์เดียวกันในการบูรณาการความร่วมมือ ในการพัฒนาหน่วยวัดแห่งชาติในสาขารังสีก่อไอออน (Ionizing radiation) โดย มว. มอบหมายให้ ปส. เป็นตัวแทน (Designated Institute, DI) ในกิจกรรมมาตรวิทยาสาขารังสีก่อไอออน เพื่อส่งเสริมการสร้างขีดความสามารถในการวัด การถ่ายทอดค่ามาตรฐานจากมาตรฐานปฐมภูมิ (Primary standard) ไปยังระดับมาตรฐานทุติยภูมิ (Secondary standard) และยกระดับขีดความสามารถระบบการวัดแห่งชาติด้านมาตรวิทยาในสาขารังสีก่อไอออนของไทย ให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามมาตรฐานสากล
นายเพิ่มสุข กล่าวว่า ปส. และ มว. มีการบูรณการความร่วมมือในการพัฒนาหน่วยวัดแห่งชาติมายาวนานตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งได้รับความร่วมมือด้วยดีเสมอมา และในความร่วมมือครั้งนี้ มุ่งเน้นที่จะพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับ มว. ในด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข้อมูลเชิงวิชาการ และการพัฒนาบุคลากร รวมถึงการให้คำปรึกษา สนับสนุน ในด้านการพัฒนาห้องปฏิบัติการด้านการทดสอบและสอบเทียบ เพื่อให้ได้รับการรับรองมาตรฐานและการยอมรับในขีดความสามารถของการสอบเทียบและการวัดในระดับนานาชาติต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองพัฒนาระบบและมาตรฐานกำกับดูแลความปลอดภัย กลุ่มมาตรฐานการวัดทางนิวเคลียร์และรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โทร. 0 2596 7600 ต่อ 1402 และ 1404
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.