ดร.ตันติมา กำลัง นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดปทุมธานี นำโดย นายธีรเจต มณีโรจน์ หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ นางสาวอรุณวดี สว่างดี หัวหน้าส่วนยุทธศาสตร์การเกษตร และ นายธนวัฒน์ พิศดาร นักวิชาการเกษตร จังหวัดปทุมธานี ลงพื้นที่มอบถังขยายชีวภัณฑ์ระดับชุมชน ผลงานวิจัยพัฒนา วว. พร้อมทั้งอบรมการขยายสารชีวภัณฑ์ด้วยถังขยายชีวภัณฑ์ระดับชุมชนผลงานวิจัยพัฒนาของ วว. ให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน “เพราะรักกสิกรรม” จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565 เพื่อผลิตสารชีวภัณฑ์สำหรับใช้ในการทำเกษตรกรรมของกลุ่มและการผลิตจำหน่ายในอนาคต ภายหลังจากที่ทางกลุ่มฯ ได้ร่วมทดลองนำชีวภัณฑ์ไปใช้ในนาข้าวตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาพบว่า การใช้ชีวภัณฑ์สามารถทดแทนสารเคมี ช่วยป้องกันและลดการเกิดโรคพืชในข้าวลดลงได้ โดยถังขยายชีวภัณฑ์ระดับชุมชนมีกำลังการผลิตหัวเชื้อเข้มข้น 150 ลิตร และสามารถเจือจางเตรียมเป็นเชื้อจุลินทรีย์พร้อมใช้งานได้ 1,500 ลิตร ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรจำนวน 30 ไร่ ต่อ 1 ถัง/รอบการผลิต
ทั้งนี้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน “เพราะรักกสิกรรม” มีพื้นที่ปลูกข้าวปทุมธานีจำนวน 910 ไร่ ปลูกด้วยระบบการจัดการด้านการเกษตรแบบองค์รวม ที่เกื้อหนุนต่อระบบนิเวศ วงจรชีวภาพ และความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเน้นการใช้วัสดุธรรมชาติ หลีกเลี่ยงวัตถุดิบที่ได้จากการสังเคราะห์ และไม่ใช้พืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ที่ได้มาจากการดัดแปรพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรม มีการจัดการกับผลิตภัณฑ์โดยเน้นการแปรรูปด้วยความระมัดระวังเพื่อรักษาสภาพการเป็นเกษตรอินทรีย์และคุณภาพที่สำคัญของผลิตภัณฑ์ในทุกขั้นตอน จึงปลอดภัยและมีคุณภาพดี ผ่านการรับรองมาตรฐาน Organic Thailand และทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชน “เพราะรักกสิกรรม” ยังเป็นกลุ่มตัวอย่างของศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานีในการผลิตข้าวหอมปทุมธานี 1 ที่เป็นข้าว GI อินทรีย์ของจังหวัดอีกด้วย ดังนั้นในการใช้สารชีวภัณฑ์ผลงานวิจัย วว. กับแปลงข้าวของกลุ่มจึงเป็นการตอบโจทย์และสอดคล้องกับแนวทางการทำเกษตรของกลุ่มได้อย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรม
อนึ่ง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สนับสนุนนโยบายรัฐบาลมุ่งเน้นวิจัยและพัฒนาด้านเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับทุกภาคส่วนของประเทศโดยเฉพาะภาคการเกษตร ผ่านการดำเนินงานโดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ในส่วนของ ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หรือ ICPIM 2 มีกำลังการผลิตรวมต่อปี 115,000 ลิตร มีสายการผลิต “สารชีวภัณฑ์” ครอบคลุมตอบโจทย์ทั้งสายการผลิตเชื้อราและแบคทีเรีย มีประสิทธิภาพควบคุมศัตรูพืช เพื่อการขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมของประเทศให้ยั่งยืน
วว. สามารถผลิตสารชีวภัณฑ์ได้จำนวน 3 รูปแบบ คือ หัวเชื้อเหลว หัวเชื้อผง และหัวเชื้อสด ในส่วนของบรรจุภัณฑ์มี 3 ขนาด คือ เล็ก กลาง และใหญ่ ตอบโจทย์ผู้ใช้ชีวภัณฑ์ทั้งรายย่อยและรายใหญ่ มีการบูรณาการดำเนินงานครอบคลุมและรองรับงานด้านชีวภัณฑ์ครบวงจร ได้แก่ **ศูนย์จุลินทรีย์ มีสายพันธ์จุลินทรีย์ในคลังมากกว่า 11,000 สายพันธุ์ เพื่อนำไปวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ ***โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ พร้อมให้บริการจัดเก็บรักษาสายพันธุ์จุลินทรีย์ให้กับผู้ประกอบการ **ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร มีห้องปฏิบัติการที่ได้รับมาตรฐานตาม OECD GLP GUIDLINE ในการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบความเป็นพิษของจุลินทรีย์
จุดแข็งด้านชีวภัณฑ์ วว. มีโครงสร้างพื้นฐานโรงงาน ICPIM 2 ที่มีศักยภาพตอบโจทย์ให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทย ในการให้บริการครบวงจรทั้งในด้านการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์จุลินทรีย์ใหม่ๆ ในระดับห้องปฏิบัติการ และทดสอบกระบวนการผลิต ขยายจุลินทรีย์ในระดับกึ่งอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีการวิจัยพัฒนาถังหมักระดับชุมชน ในรูปแบบถังสแตนเลสและถังพลาสติก ที่สามารถตอบโจทย์เกษตรกร ผู้ประกอบการ ในการขยายชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานให้เพียงพอกับการใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรม
จุดเด่นของสารชีวภัณฑ์ผลิตโดย วว.
1. ผ่านการวิจัยและพัฒนาในเรื่องของประสิทธิภาพในการควบคุมศัตรูพืช
2. มีการทดสอบความเป็นพิษในห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ISO/IEC 17025 ตามหลัก OECD GLP GUILDLINE
3. ผ่านการผลิตในโรงงานด้วยเครื่องจักรระดับกึ่งอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐาน กระบวนการผลิตสะอาด ปราศจากเชื้ออื่นปนเปื้อน
สอบถามเกี่ยวกับ “สารชีวภัณฑ์” ได้ที่ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. โทร. 0 2577 9016, 02-577 9021 โทรสาร 0 2577 9009 E-mail : icpim2@tistr.or.th
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.