วันที่ 8 พฤษภาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ กองทัพภาคที่ 3 และ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดพิธีส่งมอบนวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุนจากขยะพลาสติก ซึ่งเป็นผลงานภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง “การมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคมจากขยะพลาสติกในชุมชนภาคเหนือตอนล่าง ประเทศไทย” ที่ วช. ให้ทุนสนับสนุนแก่ รองศาสตราจารย์ ดร.พนิดา จงสุขสมสกุล แห่งคณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร ดำเนินโครงการฯ โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นผู้ส่งมอบนวัตกรรมดังกล่าว แก่กองทัพภาคที่ 3 โดยมี พลตรี ประสาน แสงศิริรักษ์ รองแม่ทัพภาคที่ 3 เป็นผู้รับมอบ พร้อมนี้ ศาสตราจารย์ ดร.กรกนก อิงคนินันท์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยคณะนักวิจัย ให้การต้อนรับ ณ สโมสรบันเทิงทัพ ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดพิษณุโลก
พลตรี ประสาน แสงศิริรักษ์ รองแม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า ในนามของกองทัพภาคที่ 3 ต้องขอขอบคุณทาง วช. และ ม.นเรศวร ที่เล็งเห็นความสำคัญของงานวิจัยนวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุน ซึ่งถือว่าเป็นคุณประโยชน์ให้กับกำลังพลของกองทัพบกเป็นอย่างดีในการนำนวัตกรรมนี้ไปใช้ในพื้นที่เสี่ยงภัย ช่วยให้เกิดความปลอดภัย โดยผลผลิตดังกล่าวจะเป็นต้นแบบในการลดขยะโดยเฉพาะขยะพลาสติกที่จะนำไปสู่การจัดการขยะอย่างยั่งยืน นวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุนนี้จัดทำขึ้นตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่มีความต้องการเสื้อเกราะที่มีน้ำหนักเบา มีประสิทธิภาพในการป้องกันภัยได้ และมีราคาถูก สามารถเข้าถึงได้ง่าย และในอนาคตหวังว่าคณะนักวิจัยจะได้พัฒนาต่อยอดนวัตกรรมนี้ให้ตอบสนองต่อความต้องการและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. เป็นองค์กรหลักด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ที่มีบทบาทสำคัญด้านการขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินโครงการวิจัยขนาดใหญ่ ที่มีความท้าทายและมีเป้าหมายชัดเจน รวมถึงการส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้ตลอดจนผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรม ไปสู่การใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาและสามารถแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม งานวิจัยนวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุนเป็นผลสำเร็จของการสนับสนุนนักวิจัยที่ได้รับทุนจาก วช. จนได้ผลงานสร้างสรรค์ยกระดับขยะพลาสติกที่มีจำนวนมาก จากกระบวนการมีส่วนร่วมให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมความปลอดภัยให้กับทหารของประเทศและจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมรายได้ให้กับคนในชุมชนจากการนำเอาขยะจากท้องทะเลมารวมกับผ้าทอมือ อันเป็นสิ่งแทนใจของความรักและความผูกพันของคนในครอบครัวและชุมชนเป็นเกราะป้องกันทหารของประเทศ ผลผลิตและต้นแบบอันเกิดจากการวิจัยครั้งนี้จะก่อให้เกิดการจัดการขยะพลาสติกและการมีส่วนร่วมของผู้คนในชุมชน ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศไทยได้ต่อไป
ศาสตราจารย์ ดร.กรกนก อิงคนินันท์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยนเรศวร มีนโยบายในการผลักดัน ส่งเสริม ให้เกิดการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรม การถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อส่งเสริมให้เกิด Research Eco system ที่จะพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยให้มีความเข้มแข็งทางวิชาการ มุ่งส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ และการต่อยอดผลงานวิจัยเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคอย่างยั่งยืน สร้างงานวิจัยชั้นแนวหน้าที่มีความหลากหลายตามศักยภาพของนักวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคและประเทศ เพื่อมุ่งสู่การเป็น "มหาวิทยาลัยเพื่อสังคมของผู้ประกอบการ" ซึ่งจะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งผู้ทำวิจัย ผู้สนับสนุนทุนวิจัย และผู้ที่นำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้เกิดการสร้างผลกระทบด้านเศรษฐกิจ และสังคมได้อย่างชัดเจน
รองศาสตราจารย์ ดร.พนิดา จงสุขสมสกุล หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า ม.นเรศวร ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. ในการดำเนินโครงการ “การมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคมจากขยะพลาสติกในชุมชนภาคเหนือตอนล่าง ประเทศไทย” มีความสอดคล้องกับแนวทางที่สหประชาชาติได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ให้ประเทศต่าง ๆ ภายใต้ทิศทางการพัฒนาประเทศ พ.ศ. 2558 –2573 ในเป้าหมายที่ 12 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การจัดการและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน การสร้างสรรค์นวัตกรรมจากขยะพลาสติกยังตอบสนองยุทธศาสตร์เศรษฐกิจหมุนเวียนชีวภาพอีกด้วย โดยคณะนักวิจัยมีแนวคิดในการนำเอาขยะเหลือใช้กลับมาทำให้เกิดประโยชน์และสร้างรายได้ให้ชุมชน จากการกำจัดขยะมูลฝอยในปี 2562 พบว่าจังหวัดพิษณุโลก ติดอันดับ 1 ใน 6 จังหวัดที่มีการนำขยะกลับมาใช้ใหม่มากที่สุด โดยจำนวนขยะมูลฝอยที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ในจังหวัดพิษณุโลก มีปริมาณ 465.7 ตันต่อวัน โดยนวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุนถือเป็นผลสำเร็จของโครงการฯ จนได้ผลงานสร้างสรรค์ยกระดับขยะพลาสติกที่มีจำนวนมาก จากกระบวนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานต่าง ๆ และชุมชน จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมความมั่นคงและความปลอดภัยให้กับกองทัพ โดยมีทหารเป็นกำลังสำคัญในการรักษาอธิปไตยของชาติ
สำหรับนวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุนจากขยะพลาสติก เป็นผลงานภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง “การมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคมจากขยะพลาสติกในชุมชนภาคเหนือตอนล่าง ประเทศไทย” ที่ วช. สนับสนุนทุนแก่ รองศาสตราจารย์ ดร.พนิดา จงสุขสมสกุล แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร และคณะ ดำเนินโครงการฯ ซึ่ง วช. กองทัพภาคที่ 3 มหาวิทยาลัยนเรศวร และคณะนักวิจัย มีความมุ่งมั่นในการผลักดันการดำเนินงานวิจัยนี้ให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย ซึ่งผลผลิตและต้นแบบอันเกิดจากการวิจัยครั้งนี้จะนำไปสู่การขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนชีวภาพ การจัดการขยะพลาสติกและการมีส่วนร่วมของผู้คนในชุมชน ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศไทยได้
ทั้งนี้ คณะนักวิจัยได้ทำการทดสอบนวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุนจากขยะพลาสติก โดยการใช้ปืนขนาด 9 มม. และ 11 มม. ณ ค่ายสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จังหวัดพิษณุโลก จากการทดสอบพบว่านวัตกรรมดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการป้องกันการยิงจากอาวุธปืนขนาด 9 มม. และ 11 มม. ในระยะการยิงที่ 5 เมตร 7 เมตร 10 เมตร และ 15 เมตร ได้เป็นอย่างดี และในอนาคตคณะนักวิจัยจะทำการพัฒนานวัตกรรมฯ ให้สามารถป้องกันอาวุธปืนที่มีประสิทธิภาพสูง อาทิ ปืนเอ็ม 16 หรือปืนอาก้า เพื่อความปลอดภัยของทหารผู้รักษาอธิปไตยของประเทศต่อไป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.