สกสว.เปิดเวทีระดมสมองคณะกรรมการทั้ง 3 ชุด เพื่อมองเป้าหมายและความคาดหวังต่อการติดตามและประเมินผลของกองทุนส่งเสริม ววน. จะส่งมอบอะไรให้กับประเทศและประชาชน ชี้ต้องผ่าตัดใหญ่ระบบ ววน. ตัดวงจรให้สั้นลง และตั้งวอร์รูมเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาประเทศได้ทันที
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุม “เป้าหมายและความคาดหวังต่อการติดตามและประเมินผลของกองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)” โดยมีคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) คณะกรรมการอำนวยการ สกสว. และคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ร่วมประชุม ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ เพื่อติดตามประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนส่งเสริม ววน. หลังดำเนินการครบ 4 ปี ซึ่งพบว่าบทบาทหน้าที่หรือขอบเขตการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามและประเมินผลฯ ยังขาดความชัดเจน มีช่องว่าง ขาดกลไกของวงจรสะท้อนกลับ และขาดความเชื่อมโยงในการทำงานของคณะกรรมการทั้ง 3 ชุด
“คณะกรรมการติดตามและประเมินผลฯ ต้องการรับฟังข้อเสนอแนะในประเด็นที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน ทั้งบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ในการทำงานกับคณะกรรมการอีก 2 ชุด จุดคานงัดที่จะทำให้การทำงานของคณะกรรมการทั้ง 3 ชุด เกิดประโยชน์ต่อการทำงานของ สกสว. รวมถึงแนวทางการติดตามและประเมินผลของกองทุนส่งเสริม ววน. และประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบ ววน. ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ทั้งยังนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอต่อสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อพัฒนาระบบ ววน.ของประเทศต่อไป” รศ. ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. ระบุเป้าหมายและความคาดหวังของ กสว. ต้องทำให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้า ประชาชนกินดีอยู่ดี โดยมี ววน. เป็นหน่วยสนับสนุน ต้องมองภาพใหญ่ให้มากขึ้นว่าจะส่งมอบอะไรให้กับประเทศและประชาชน มีวาระที่ท้าทาย เห็นภาพรวมทั้งระบบของการบริหารจัดการและบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจน มีการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบมากกว่ารายโครงการ ที่ประชุมจึงเห็นว่าอาจจะต้องผ่าตัดใหญ่ระบบ ววน.ของประเทศ เพราะปัจจุบันยังห่างจากระบบของเอกชนพอสมควร โดยเสนอให้ประเมินผลกลางเทอมด้วยเพื่อการแนะนำและปรับปรุงงาน ปรับวงจรและกระบวนการกลั่นกรองโครงการให้สั้นลงจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ มีแผนและเป้าหมายที่ชัดเจน พร้อมทั้งธรรมาภิบาลเชิงระบบ รวมถึงต้องวอร์รูมร่วมของคณะกรรมการทั้ง 3 ชุด เพื่อยกประเด็นปัญหาและบริหารจัดการแก้ปัญหาได้ทันที โดยมีหน่วยบริหารและจัดการทุนเป็นตัวเชื่อมกับนักวิจัย เพื่อให้มีเหตุผลของการคงอยู่ของระบบ ววน. ในความศรัทธาและเชื่อถือของคนในประเทศ
“การติดตามและประเมินของภาครัฐแตกต่างจากภาคเอกชนอย่างมาก ซึ่งตนเห็นด้วยกับการประเมินภาพใหญ่ คณะกรรมการจะต้องมีบทบาทต่อประเทศชาติมากกว่าที่กำหนดไว้ในปัจจุบัน และเข้าไปถึงสภานโยบายฯ ได้เลย” คุณกานต์ ตระกูลฮุน ประธานคณะกรรมการติดตามและประเมินผลฯ กล่าว ขณะที่ รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. สรุปปิดท้ายว่า หัวใจใหญ่ของการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงจะต้องมองให้เห็นภาพใหญ่ ระบบ ววน.มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก จะใช้อะไรเป็นตัวขับเคลื่อน เช่น ข้อมูลเพื่อรู้จักหน่วยงานต่าง ๆ ข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการและความสามารถทางวิชาการ ข้อมูลในภาพใหญ่เพื่อการขับเคลื่อน ข้อมูลจากการเรียนรู้และทบทวนอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังต้องมีจังหวะ เราได้เปลี่ยนระบบ ววน.มา 4 ปีแล้ว การดูแลงบประมาณแผ่นดินจึงช้าไม่ได้ และต้องชี้แจงงบประมาณด้วย ดังนั้นผลงาน ววน.จึงเป็นเรื่องสำคัญ สกสว.จะทำให้ดีขึ้นและสร้างผลกระทบได้อย่างไร รวมถึงการทำงานร่วมกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย ทั้งนี้ สกสว.จะนำข้อเสนอแนะทั้งหมดกลับไปปรับปรุงและพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.