10 กรกฎาคม 66: พล.ต.ท. พรชัย สุธีรคุณ ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านมาตรวิทยา เพื่อสร้างมาตรฐานการวัดที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับหน่วยงานที่ปฏิบัติงานในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ จากการนำองค์ความรู้หรือแนวทางปฏิบัติในการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม การตรวจวัดการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิด นำไปสู่การกำหนดแนวทางปฏิบัติเดียวกันทั่วประเทศ รวมทั้งการนำนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือครั้งนี้ไปใช้ในการเสริมสร้างความเชื่อมั่นของระบบการวัดที่เป็นมาตรฐานของประเทศและเทียบเท่าสากล ทั้งสองหน่วยงานได้ตระหนักถึงความสำคัญและเห็นชอบร่วมกันในการพัฒนาด้านมาตรวิทยาอย่างต่อเนื่อง โดยความร่วมมือที่จะดำเนินการร่วมกันในช่วง 3 ปี นับตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 30 กันยายน 2569 ที่ครอบคลุมประเภทของมลพิษ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการตรวจวัดคุณภาพอากาศ ด้านการตรวจวัดการระบายมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด ด้านการตรวจวัดคุณภาพน้ำ และด้านการตรวจวัดระดับเสียง ณ กรมควบคุมมลพิษ กรุงเทพฯ
มว. ได้สนับสนุนภารกิจของ คพ. ซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่องมือวัดทางวิทยาศาสตร์ที่มีความเที่ยงตรง มีกระบวนการเก็บข้อมูลหรือเก็บตัวอย่างที่ถูกต้องเพื่อความถูกต้อง น่าเชื่อถือในผลการตรวจสอบและพิสูจน์ระดับมลพิษในการประเมินสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงความน่าเชื่อถือของหน่วยงาน มีผลสำเร็จแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1) ด้านการพัฒนาการสอบเทียบปรับเทียบเครื่องมือวัดและการสร้างความเชื่อมั่นของการวัด ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายในการสอบเทียบเครื่องมือโดยไม่ต้องส่งสอบเทียบต่างประเทศ 2) ด้านการพัฒนาแนวทางการตรวจวัด ซึ่งมีประโยชน์ในด้านการกำหนดวิธีการ กระบวนการตรวจวัดที่เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อความถูกต้องเชื่อถือได้ของผลการวัด และ 3) ด้านการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ในการตรวจวัด
จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาทาง มว. ได้ก่อประโยชน์ให้กับ คพ. และหน่วยที่ปฏิบัติงานในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ อย่างมาก โดยเฉพาะการพัฒนาการสอบเทียบเครื่องมือวัด และพัฒนาแนวทางปฏิบัติในการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การกำหนดแนวทางปฏิบัติเดียวกันทั่วประเทศ เช่น การสอบเทียบเครื่องวัดอัตราการไหลของเครื่องวัดฝุ่นละอองในบรรยากาศแบบอัตโนมัติ การสอบเทียบแผ่นกระจกกรองแสงสำหรับเครื่องวัดความทึบแสง (เครื่องวัดควันดำจากรถยนต์) การพัฒนาคู่มือการตรวจวัดระดับเสียงของจักรยานยนต์ การจัดเปรียบเทียบผลการวัดออกซิเจนละลายในน้ำ เป็นต้น ในการติดตามตรวจสอบ ประเมินผลและเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ทราบสถานการณ์ในการแจ้งเตือนประชาชนทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์วิกฤติ และการตรวจวัดการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิด รวมถึงนำข้อมูลการติดตามตรวจสอบ การตรวจวัดต่างๆ ไปใช้จัดทำแผนจัดการและควบคุมมลพิษ และการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม ซึ่งภารกิจดังกล่าวจำเป็นต้องใช้เครื่องมือวัดทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นไปตามมาตรฐานของประเทศและของนานาชาติ เครื่องมือมีความเที่ยงตรง มีกระบวนการเก็บข้อมูลหรือเก็บตัวอย่างที่ถูกต้อง เพื่อความถูกต้อง น่าเชื่อถือในผลการตรวจสอบและพิสูจน์ระดับมลพิษในการประเมินสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงความน่าเชื่อถือของหน่วยงานที่ประชาชนให้ความไว้วางใจ เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมยังเป็นประเด่นสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังเพื่อทำให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.