เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 กรกฎาคม 2566 ในเวลา 20.00 นสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ และวิทยาลัยการอาชีพไชยา ร่วมจัดการแสดงโดรนแปรอักษรเทิดพระเกียรติ ณ สนามฟุตบอลวิทยาลัยการอาชีพไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
การจัดแสดงโดรนแปรอักษร ณ สนามฟุตบอลวิทยาลัยการอาชีพไชยาในครั้งนี้ ได้มีการนำโดรนแปรอักษรจำนวน 300 ลำ บินขึ้นสู่ท้องฟ้าในยามค่ำคืน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2566 ประกอบด้วย การแปรอักษรในภาพ ดังนี้
1. รูป ธงชาติไทย
2. รูป ตราพระปรมาภิไธยย่อ วปร
3. รูป ในหลวงรัชกาลที่ 10 หน้าตรง
4. รูป ในหลวงรัชกาลที่ 10 โบกมือ
5. รูป เครื่องบิน F5E
6. อักษรคำว่า เฉลิมพระชนมพรรษา 71 พรรษา
7. รูป ในหลวงรัชกาลที่ 10 กับ รูป ราชินี สมเด็จพระนางเจ้าสุทธิดา
8. รูป ในหลวงรัชกาลที่ 10 กับ รูป ในหลวงรัชกาลที่ 9
9. อักษรคำว่า ทรงพระเจริญ
10. รูป Logo อว.
11. รูป Logo วช.
พร้อมทั้งนี้ ได้มีการแสดงศิลปะมวยไชยา ที่แสดงถึงอัตลักษณ์เชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกอบการบินโดรนแปรอักษรด้วย
ในโอกาสเดียวกัน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 กรกฎาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ จัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม “การอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน” ภาคใต้ ครั้งที่ 4 โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ประธานในพิธีเปิดการอบรมฯ มีเป้าหมาย เพื่อส่งเสริมการถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเกี่ยวกับ “โดรนแปรอักษร” และการพัฒนาซอฟแวร์โดรนเพื่อนำไปประยุกต์ใช้งาน โดยมี นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยฯ พร้อมนี้ นายชวลิต โรจนรัตน์ นายอำเภอไชยา นางสาวพรรณา พรหมวิเชียร รองศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ดร.ประชาคม จันทรชิต ประธานกรรมการวิทยาลัยการอาชีพไชยา นายณรงค์ หวังอีน ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพไชยา และคณะผู้บริหารหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมในพิธีเปิดการอบรมฯ ณ วิทยาลัยการอาชีพไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า“โดรนแปรอักษร” โดยฝีมือคนไทย เป็นนวัตกรรมที่มีความทันสมัยต่อการตอบโจทย์การสร้างสรรค์และพัฒนาสมรรถนะให้นักประดิษฐ์รุ่นใหม่วช. สนับสนุนให้สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับจัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน โดยการดำเนินโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน ซึ่งเป็นการยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีของคนไทยให้ก้าวล้ำไปอีกขั้นทัดเทียมกับเทคโนโลยีของต่างประเทศ เป็นการพัฒนาซอฟแวร์โดรนเพื่อนำไปประยุกต์ใช้งาน ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรม และนวัตกร ที่จะนำความรู้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน ที่ได้รับมาพัฒนาต่อยอดและปรับใช้กับการทำงานในด้านต่าง ๆ ให้กับนักเรียน นักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยเป็นการอบรมบ่มเพาะเชิงบูรณาการ ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติและลงมือทำในสิ่งต่าง ๆ ในสภาพแวดล้อมจริง ได้ฝึกคิด ฝึกทำ ฝึกทักษะ ฝึกปฏิบัติด้วยตนเองผ่านกิจกรรม “โดรนแปรอักษร”
นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าวว่าโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ มุ่งสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี ให้เกิดการสร้างนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่มีความหลากหลายและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ในการนี้สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ซึ่งเป็นผู้นำด้านการพัฒนาเทคโนโลยีโดยการใช้งานโดรนในมิติต่างๆ ได้พัฒนา"โดรนแปรอักษร" ฝีมือคนไทย โดยนำความรู้ดังกล่าว จัดอบรมในภาตใต้ จำนวน 4 ครั้ง ที่จังหวัดชุมพร จังหวัดตรัง จังหวัดกระบี่ และ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยอบรมครั้งที่ 4 มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 200 คน
สำหรับโครงการ “อบรมเชิงปฏิบัติการการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน” สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ได้รับการสนับสนุนจาก วช. จนประสบผลสำเร็จในการคิดค้นและพัฒนาซอฟต์แวร์การสั่งงานโดรนแปรอักษร กล่าวได้ว่าเป็น “โดรนแปรอักษร” ฝีมือคนไทย ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ถือเป็นการยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีของคนไทยให้ก้าวล้ำไปอีกขั้นทัดเทียมกับเทคโนโลยีของต่างประเทศ การถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งานที่สร้างความตื่นตาตื่นใจ และแพลตฟอร์มระบบปัญญาประดิษฐ์ มีการพัฒนาและส่งเสริมให้ใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยี ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรม และนวัตกร ที่จะนำองค์ความรู้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับที่ได้รับมาพัฒนาต่อยอดและปรับใช้กับการทำงานในด้านต่าง ๆ ทั้งนี้ สามารถติดตามข่าวสารการอบรมได้ที่ Facebook Fanpage : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.