(วันที่ 10 สิงหาคม 2566) ณ อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี : สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นองค์ประธานพิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่องวิศวกรรมพื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก ครั้งที่ 16 (i-CREATe 2023) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-11 สิงหาคม 2566 ณ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี โดยมีศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ประธานคณะกรรมการจัดงาน i-CREATe 2023 นายไซม่อน หว่อง คัมมัน ประธานกลุ่มความร่วมมือวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกแห่งเอเชีย ศาสตราจารย์คลินิกสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล รองเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมคณะผู้บริหาร สวทช. เฝ้าฯ รับเสด็จ
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กราบบังคมทูลรายงานว่า i-CREATe 2023 เป็นงานประชุมวิชาการนานาชาติเรื่องวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก ครั้งที่ 16 และเป็นการประชุมออนไซต์เต็มรูปแบบครั้งแรกตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีกลุ่มความร่วมมือด้านวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกแห่งเอเชีย หรือ Coalition on Rehabilitation Engineering and Assistive Technology of Asia: CREATe Asia เป็นผู้จัดงาน ภายใต้แนวคิด “การมุ่งสู่สังคมยั่งยืนสำหรับทุกคน” เพื่อช่วยเหลือผู้พิการและผู้สูงวัย โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งในปัจจุบันและอนาคตผ่านกิจกรรมหลัก 4 ด้าน ได้แก่ (1) การนำเสนอผลงานวิชาการ (2) การประชุมเชิงปฏิบัติการและการอบรม (3) งานประกวดนวัตกรรมระดับนานาชาติ สำหรับนักเรียนนักศึกษา “Global Student Innovation Challenge” เพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ และ (4) นิทรรศการด้านวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการและผู้อายุ ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกในสังคม รวมถึงกระตุ้นและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก
นอกจากนี้ งานประชุมวิชาการนานาชาติ i-CREATe 2023 ได้รับเกียรติและความสนับสนุนที่ดียิ่งจากผู้เชี่ยวชาญในวงการถึง 8 รายที่มาร่วมเป็นวิทยากรจาก 6 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน เนเธอร์แลนด์และไทย ทั้งนี้การประชุมดังกล่าวครอบคลุมถึงงานประชุมการนำเสนอแบบกลุ่ม 4 กลุ่ม การนำเสนอผลงาน 14 เรื่อง การนำเสนอผลงานแบบโปสเตอร์ 7 เรื่อง การประชุมเชิงปฏิบัติการและการอบรม 6 เรื่อง โครงงานทีมของนักเรียนนักศึกษาจาก 5 เขตเศรษฐกิจ 33 โครงงาน รวมถึงมีบูธนิทรรศการผลงาน 47 บูธ
นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะผู้จัดงานร่วมกับ สวทช. ได้ร่วมจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ภารกิจด้านการสร้างความตระหนักและเรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ การพัฒนานวัตกรรมและการจัดให้มีบริการที่ส่งเสริมการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ผ่านเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงมีการบรรยายและเสวนาในหัวข้อ Digital Inclusion : Digital ID และ Who Benefits from Digital Assistive Technology? ทั้งนี้ งานครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมงานจำนวน 300 คนจาก 10 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และไทย
โอกาสนี้ นายไซม่อน หว่อง คัมมัน ประธานกลุ่มความร่วมมือวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกแห่งเอเชีย กราบบังคมทูลรายงานถึงงานประชุม i-CREATe 2022 ซึ่งจัดขึ้นในฮ่องกง เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ว่า สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี แม้จะเป็นการจัดงานในรูปแบบไฮบริดเนื่องจากอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่มีตัวแทนทั้งจากต่างประเทศและท้องถิ่นมาร่วมนำเสนอผลงานผ่านทางระบบออนไลน์ อีกทั้ง มีการประกวดนวัตกรรมระดับนานาชาติสำหรับนักเรียนนักศึกษา “Global Student Innovation Challenge” ซึ่งได้แสดงให้เห็นถึงแนวคิดล้ำสมัยของนักเรียนและนักศึกษาที่มีความพยายามในการออกแบบพัฒนา มีนักวิจัยรุ่นใหม่ที่ได้มานำเสนองานวิจัยด้วยตนเอง และหลายผลงานเป็นแนวคิดระดับนวัตกรรม
ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ประธานคณะกรรมการจัดงาน i-CREATe 2023 กราบบังคมทูลเบิกผู้ชนะเลิศการประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุระดับนานาชาติ ด้านนวัตกรรมการออกแบบ ประจำปี 2566 จำนวน 3 รางวัล และผู้ชนะเลิศการประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุระดับนานาชาติ ด้านเทคโนโลยี ประจำปี 2566 จำนวน 3 รางวัล
จากนั้นสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ i-CREATe 2023 และทรงฟังศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แสดงปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ นวัตกรรมขาเทียม ของมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อดีต ปัจจุบัน และอนาคต (The Prostheses Foundation of H.R.H. The Princess Mother: innovations from the past, present, and future) และทรงตัดแถบแพรเปิดนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุระดับนานาชาติ และทอดพระเนตรผลงานจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุระดับนานาชาติ ด้านนวัตกรรมการออกแบบและด้านเทคโนโลยี ประจำปี 2566 จำนวน 33 ผลงาน นิทรรศการเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก และผลงานการประกวดที่เกิดขึ้นในอดีตจนสามารถพัฒนาเป็นธุรกิจ Start-up อาทิ
- สำนักงาน กสทช. แสดงนิทรรศการด้านการพัฒนานวัตกรรมและการจัดให้มีบริการที่ส่งเสริมการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ผ่านเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ ระบบบริการถ่ายทอดการสื่อสาร (TTRS) เพื่อให้คนพิการทางการได้ยินและคนพิการทางการพูดสามารถสื่อสารกับคนทั่วไปผ่านโทรคมนาคมพื้นฐานได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ระบบบริการคำบรรยายแทนเสียง (Caption) นวัตกรรมที่ช่วยให้คนพิการหรือผู้สูงอายุที่มีปัญหาทางด้านการได้ยิน สามารถเข้าถึงเนื้อหาของข่าว งานประชุมวิชาการ และการเรียนการสอนได้ เพื่อช่วยให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นเสียงพูดได้ด้วยการอ่านข้อความที่ได้จากการถอดความแทนการฟังเสียง
- ระบบจับการเคลื่อนไหวมนุษย์แบบไร้มาร์กเกอร์ จุดเด่นคือ ผู้ใช้งานไม่ต้องติดมาร์กเกอร์เพื่อระบุตำแหน่งตามร่างกาย แต่อาศัยการออกแบบกระบวนการคำนวณเพื่อฝึกฝนให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้ วิเคราะห์ภาพ และระบุตำแหน่งได้ว่าแต่ละจุดเป็นอวัยวะส่วนใดของร่างกาย จากนั้นระบบจะนำภาพไปใช้ประมวลผลบันทึกเป็นข้อมูล 3 มิติ ซึ่งช่วยลดเวลาและความยุ่งยากในการใช้งาน โดยเตรียมประยุกต์ใช้งานด้านการแพทย์ ใน 3 ด้าน คือ ด้านออร์โธพีดิกส์ เช่น การตรวจวิเคราะห์ผู้ที่มีภาวะความเสี่ยงโรคข้อเข่าเสื่อม เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ด้านการตรวจประเมินสุขภาพ เช่น การตรวจจับความผิดปกติจากท่าทางการเดินในผู้สูงวัยเพื่อป้องกันและเฝ้าระวังโรคที่มาจากความเสื่อมของร่างกาย และด้านการการฟื้นฟูสมรรถภาพ ใช้สำหรับการวางแผนการออกกำลังกายหรือการทำกายภาพแก่ผู้ป่วย
- สเปซ วอล์กเกอร์ (Space Walker) อุปกรณ์ช่วยฝึกเดิน พร้อมระบบพยุงน้ำหนักบางส่วน นวัตกรรมเพื่อผู้ป่วยหลังกายภาพบำบัดและส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในสังคมสูงวัย ผลงานนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 (Gold Award) จากงาน (i-CREATe 2017) ที่ประเทศญี่ปุ่น และอีกหลายรางวัลต่อมา จนนักวิจัยสามารถตั้งบริษัทเมดิคิวบ์ จำกัด เพื่อรับถ่ายทอดเทคโนโลยี นำไปผลิตและจำหน่าย ได้ขยายผลการใช้งานเพื่อยกระดับการให้บริการและการดูแลผู้สูงอายุรองรับสังคมสูงวัย ปัจจุบัน สเปซ วอล์กเกอร์ ได้รับการพิจารณาจากสำนักงบประมาณในการขึ้นทะเบียนนวัตกรรมไทย สาขาการแพทย์และสุขภาพ เพื่อจะได้รับการส่งเสริมในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อให้คนไทยได้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมที่คนไทยผลิตได้คุณภาพมาตรฐานและลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
- Podogram Analyzer ผลงานนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศจากงาน i-CREATe 2014 ที่สิงคโปร์ เป็นระบบตรวจวัดและวิเคราะห์น้ำหนักกดบริเวณฝ่าเท้า เพื่อนำไปประยุกต์ใช้สำหรับการออกแบบอุปกรณ์พยุงส้นเท้าและฝ่าเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะรองเท้าหรือลักษณะการเดินที่ไม่สอดรับกับแรงกดของฝ่าเท้า อาจทำให้เกิดแผลกดทับ ระบบวิเคราะห์ฝ่าเท้าอัจฉริยะมีองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นเครื่องโพโดสโคป ที่สามารถดูภาพฝ่าเท้าจากจอแสดงผล และสามารถนำภาพฝ่าเท้าที่ได้ไปประเมินผลต่อได้ กับส่วนที่เป็นโปรแกรมประยุกต์ที่สามารถประเมินอาการผิดปกติของเท้าได้ โดยการวัดอัตราส่วนของฝ่าเท้า เพื่อตรวจสอบความผิดปกติของรูปเท้า ประเมินการไหลเวียนของโลหิตจากภาพทั้งก่อนและหลังการใส่อุปกรณ์เสริมอุ้งฝ่าเท้า โดยจะแสดงผลเป็นข้อมูลทางการแพทย์ซึ่งแพทย์สามารถนำมาประกอบการวินิจฉัยโรคและการติดตามผลในการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ.
ข้อมูลจาก ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สวทช.
เผยแพร่ข่าว : นางสาวพรนภา สวัสดี
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.