เมื่อวันที่ 5 - 6 สิงหาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “หลักสูตรการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยที่สอดคล้องกับการวิจัยและนวัตกรรมในมิติใหม่ รุ่นที่ 4 ครั้งที่ 3 ประจำปี พ.ศ. 2566” (4 ภูมิภาค: ภาคกลางและภาคตะวันออก) โดยมี นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมฯ ณ โรงแรมไมด้า รีสอร์ท กาญจนบุรี อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
นายสมปรารถนา สุขทวี กล่าวว่า วช. มีความมุ่งหวังที่จะพัฒนาศักยภาพของอาจารย์ นักวิจัยรุ่นใหม่ในสังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฏ โดยการส่งเสริมและพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยที่สอดคล้องกับการวิจัยและนวัตกรรมในมิติใหม่ ให้สามารถเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยถูกต้องตามหลักการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยที่มีคุณภาพ และสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นพื้นฐานต่อการพัฒนาประเทศ ตลอดจนสามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพื้นที่ เชิงสาธารณะ หรือเชิงนโยบายได้ วช. จึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “หลักสูตรการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยที่สอดคล้องกับการวิจัยและนวัตกรรมในมิติใหม่” ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ซึ่งการฝึกอบรมฯ ในครั้งนี้ถือเป็นการฝึกอบรมฯ ครั้งที่ 3 ของรุ่นที่ 4 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้อาจารย์/นักวิจัยรุ่นใหม่ในสังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฏได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ และรับข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะทางวิชาการจากผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อนำไปพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยให้มีคุณภาพตามหลักวิชาการ และสามารถเสนอขอรับทุนสนับสนุนการวิจัยจากหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมต่าง ๆ ได้
โดยตลอดระยะเวลาของการฝึกอบรมฯ ทั้ง 3 ครั้งนั้น วช. ได้ปรับปรุงเนื้อหาสาระของหลักสูตรดังกล่าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบวิจัยและนวัตกรรมในปัจจุบัน และเหมาะสมกับความต้องการของผู้เข้ารับการอบรม ทั้งนี้ วช. ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความรู้และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ได้แก่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี ศาสตราจารย์ ดร.โกสุม จันทร์ศิริ ศาสตราจารย์ ดร.สนอง เอกสิทธิ์ ศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช รองศาสตราจารย์ ดร.พัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค รองศาสตราจารย์ ดร.ขนิษฐา ชัยรัตนาวรรณ และดร.อรสุดา เจริญรัถ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะแก่ผู้เข้าร่วมฝึกอบรม
ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโครงการวิจัย อีกทั้ง วช. ยังได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นอย่างดียิ่ง โดยมีผู้ผ่านการฝึกอบรมจำนวน 52 คน จากมหาวิทยาลัยราชภัฏในภาคกลางและภาคตะวันออกจำนวน 14 แห่ง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.