ข้อมูลเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากในชีวิตประจำวันและการดำเนินงานขององค์กร การจัดการและใช้ประโยชน์จากข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพช่วยเพิ่มคุณค่าและประสิทธิผลในหลายมิติ ข้อมูล (Data) คือ ข้อเท็จจริงหรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน อย่างข้อมูลในอินเทอร์เน็ตและแหล่งข้อมูลอื่น ๆ ช่วยให้เราสามารถแก้ไขปัญหาหรือหาข้อมูลที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วและสะดวก เช่น การค้นหาข้อมูลการเดินทาง, ข้อมูลสุขภาพ, ข้อมูลการซื้อสินค้าออนไลน์ เป็นต้น นอกจากนี้ข้อมูลยังช่วยในการพัฒนาองค์กร ช่วยให้เข้าใจสถานการณ์ขององค์กร สภาพแวดล้อมภาพนอก ช่วยในการวิเคราะห์และตัดสินใจด้วยข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อเปรียบเทียบ การวิเคราะห์ทางการตลาด การบริหารความเสี่ยง รวมถึงพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมธุรกิจและสังคมอย่างทันท่วงที
จึงเป็นที่มาของการจัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการของเนคเทค ประจำปี 2566 หรือ NECTEC Annual Conference and Exhibitions 2023 (NECTEC–ACE 2023) ภายใต้แนวคิด “ฐานรากเทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาไทยก้าวหน้า” ที่มุ่งเน้นนำเสนอด้าน "Data for Thai Data for All" จัดโดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค สวทช. ร่วมกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด และหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ และเอกชน รวม 19 หน่วยงาน (ในวันที่ 12 กันยายน 2566)
นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และประธานเปิดงาน NECTEC-ACE 2023 กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลกลายเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตประจำวันของเราทุกคน ข้อมูลกลายเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่ามหาศาล ทั่วโลกต่างใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยข้อมูลดิจิทัล ในส่วนภาครัฐนั้นได้เห็นความสำคัญของการใช้ข้อมูลในการส่งเสริมความเจริญของประเทศ โดยการสนับสนุนแนวคิดของภาครัฐเปิดข้อมูล (Open Government Data) รวมถึงมีการประกาศใช้ พรบ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ และส่งเสริมการรวบรวมข้อมูลในฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อให้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เรียนรู้และพัฒนาต่อไปได้
การขับเคลื่อนประเทศโดยการนำข้อมูลมาช่วยในการตัดสินใจ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ประเทศก้าวสู่การเป็นประเทศที่ใช้ข้อมูลเป็นศูนย์กลางอย่างครบถ้วน การเชื่อมโยงและแบ่งปันข้อมูลหรือ Data Sharing ระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่น ๆ ภายใต้โครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการข้อมูลจึงมีความสำคัญจะต้องดำเนินการอย่างเหมาะสมและมีความปลอดภัย จากข้อมูลที่หลาก หลาย ในทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลอัตลักษณ์ส่วนบุคคล หรือข้อมูลสุขภาพ เป็นต้น เพื่อนำข้อมูลที่ถูกต้องมาประยุกต์ สร้างสรรค์ ออกแบบ และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการนำเสนอนวัตกรรมหรือการบริการใหม่ๆ หรือวิธีการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่าการจัดงานประชุมวิชาการ และนิทรรศการของเนคเทค หรือ NECTEC-ACE 2023 นอกจากจะเป็นเวทีนำเสนอองค์ความรู้ทางวิชาการ ผลงานวิจัยที่ใช้ได้จริงที่เกิดจากความร่วมมือร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรแล้ว ยังเป็นการตอกย้ำการดำเนินงานในปัจจุบันของสวทช. ภายใต้นโยบาย “NSTDA Core Business” ที่ต้องการเป็นฐานรากทางเทคโนโลยี ให้ภาคส่วนต่างๆ ได้นำความรู้ เครื่องมือ นำงานวิจัยใช้แก้ปัญหาที่เป็นโจทย์สำคัญเร่งด่วนของประเทศ และที่สำคัญคือ ประชาชน/ชุมชนให้เข้าถึงงานวิจัยที่ใช้ประโยชน์ได้จริง โดยได้คัดเลือกงานวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ พัฒนา ขึ้นเป็นแพลตฟอร์มการดำเนินงาน ได้แก่ Traffy Fondue แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมือง Digital Healthcare Platform แพลตฟอร์มแก้ปัญหาการบริการด้านสาธารณสุขของประเทศ FoodSERP แพลตฟอร์มให้บริการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชัน ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์กลุ่มสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ (Functional ingredient) ในรูปแบบ One stop service Thailand i4.0 Platform แพลตฟอร์มให้บริการ Digital Transformation สำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิตแบบครบวงจร รวมถึงศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง หรือ ThaiSC ของสวทช. ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศไทย ให้บริการ Supercomputer ชื่อว่า “LANTA” ประสิทธิภาพสูงรองรับการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ ได้อย่างรวดเร็ว เป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน และติดอันดับที่ 70 ของโลก
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค กล่าวว่างานประชุมวิชาการและนิทรรศการเนคเทคประจำปี 2566 หรือ NECTEC–ACE 2023 ยังคงได้รับการสนับสนุน และความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนจาก 19 หน่วยงาน ที่เล็งเห็นประโยชน์ และความสำคัญในการสนับสนุน รวมทั้งมีผู้สนใจได้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานมาแล้วทั้งสิ้น มากกว่า 2,000 คน โดยวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าทางวิชาการ แลกเปลี่ยน ความรู้ และประสบการณ์จากผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัย นักวิชาการ ที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้ง การนำเสนอ องค์ความรู้จากผลงานวิจัยของเนคเทค และผลงานที่ร่วมกับพันธมิตร ในรูปแบบสัมมนาวิชาการ และนิทรรศการเพื่อ แสดงศักยภาพ และเทคโนโลยีจากภาครัฐและเอกชน
โดยเนื้อหา สาระความรู้ ในงาน NECTEC–ACE 2023 เพื่อนำเสนอต่อกลุ่มเป้าหมาย ทั้งผู้บริหารหน่วยงาน ผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจเอกชน นักวิจัย นักวิชาการ นิสิต นักศึกษา และผู้ที่สนใจในเทคโนโลยีทางด้านข้อมูลได้เข้ามาใช้ประโยชน์ ประกอบด้วย 12 หัวข้อสัมมนาวิชาการ ที่รวบรวมวิทยากรมากกว่า 50 ท่าน มาร่วมนำเสนอความรู้ แลกเปลี่ยน ประสบการณ์การดำเนินงานจริง ในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องทางด้านข้อมูล 3 กลุ่มที่สำคัญ ได้แก่ Data Platform, Data Governance & Security และ Big Data & AI 30 บูธนิทรรศการ ทั้งผลงานวิจัยจากเนคเทค และหน่วยงานพันธมิตร ที่มาร่วมนำเสนอ Data Solution, Core Technology และตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จของการใช้ข้อมูล ต่อยอด ขับเคลื่อนการดำเนินงานขององค์กร และธุรกิจ สำหรับตัวอย่างการพัฒนาฐานข้อมูลของเนคเทค ที่เป็นประโยชน์และพร้อมนำไปต่อยอดสำหรับการพัฒนาในด้านต่างๆ อาทิ
การจัดงานในครั้งนี้ ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐ เอกชน มาร่วมนำเสนอ แลกเปลี่ยนองค์กรความรู้ ทั้งในฝั่งผู้พัฒนาเทคโนโลยี ผู้ใช้งาน และผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการใช้ข้อมูล สำหรับงาน NECTEC-ACE 2023 ในวันนี้ต้องขอบคุณประธานท่านผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้ง 19 หน่วยงาน และหน่วยงานอื่นๆ ที่ได้เล็งเห็นประโยชน์ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนในการจัดงานในครั้งนี้
ภายหลังการจัดงาน ยังเปิดให้ผู้ที่สนที่ไม่สามารถมาร่วมงานได้ สามารถติดตามบันทึกการสัมมนาย้อนหลังและข้อมูลนิทรรศการผลงานวิจัย ได้ที่ www.nectec.or.th/ace2023
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.