ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย นางศิรินันท์ ทับทิมเทศ ผอ.ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหาร วว. ร่วมรับรางวัลผลงานนวัตกรรม Bronze medal from iENA 2023 และ Special award from Association of Polish Inventors and Rationalizers ประเทศโปแลนด์ จากผลงานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารรูเซี่ยมพลัสเพื่อบำรุงกระดูกและข้อจากเจลาตินไฮโดรไลเสส และรางวัล Special award from Taiwan Prominent Inventor League ประเทศไต้หวัน ด้วยผลงานผลิตภัณฑ์รักษาฝ้าจากสารสกัดดอกบัวสาย ในเวทีประกวดนานาชาติ “The International Trade Fair-Ideas, Inventions and New products” หรือ iENA 2023 ในวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ณ เมืองนูเรมเบิร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
ผลงานดังกล่าว ได้รับการคัดเลือกจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยการนำของ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.วช. ในการส่งเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงนิทรรศการ ทั้งสองผลิตภัณฑ์เป็นผลงานวิจัยและพัฒนาของ วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ศนส.) ซึ่งมี นางสาวอุบล ฤกษ์อ่ำ นักวิจัยอาวุโส วว. เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนา
วว. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ผลิตภัณฑ์ทั้งสองชนิดให้แก่ภาคเอกชน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้ทรัพยากรในประเทศให้เกิดประโยชน์และส่งเสริมให้กลุ่มธุรกิจเสริมอาหารของไทยใช้วัตถุดิบภายในประเทศให้มีความหลากหลายและเกิดคุณค่ามากยิ่งขึ้นด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ดังนี้
1) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารรูเซี่ยมพลัส สำหรับบำรุงกระดูกและข้อจากเจลาตินไฮโดรไลเสส ถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้แก่ บริษัท โอดี สไตล์ จำกัด และ บริษัท คุรุโระ อินฟินิท จำกัด
2) ผลิตภัณฑ์รักษาฝ้าจากสารสกัดดอกบัวสาย ถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้แก่ บริษัท โอดี สไตล์ จำกัด และ บริษัท คลาร่า อินโนเวชั่น จำกัด
อนึ่ง งาน The International Trade Fair-Ideas, Inventions and New Products” (iENA 2023) จัดขึ้นวันที่ 28 – 30 ตุลาคม 2566 ณ Exhibition Centre Nuremberg เมืองนูเรมเบิร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยเป็นเวทีการประกวดและนำเสนอผลงานของนักประดิษฐ์จากประเทศต่างๆ ภายใต้การสนับสนุนของ AFAG Messen und Ausstellungen GmbH โดยมีผลงานประดิษฐ์คิดค้นจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย สถาบันต่างๆ นักวิจัย และนักประดิษฐ์อิสระจากประเทศเยอรมนีและต่างประเทศ เข้าร่วมประกวดและจัดแสดงผลงานกว่า 800 ผลงาน จากองค์กรประเทศต่างๆ กว่า 30 ประเทศ อาทิ สาธารณรัฐแคเมอรูน สาธารณรัฐโครเอเชีย ราชอาณาจักรกรีซ บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา สาธารณรัฐฝรั่งเศส และประเทศไทย โดย วช. เป็นหน่วยงานกลางของไทย (Exclusive Agency) ในการคัดกรองผลงานนักประดิษฐ์และนักวิจัยจากประเทศไทยมากกว่า 80 คน เข้าร่วมนำเสนอและร่วมประกวดในครั้งนี้
ข้อมูลโดย : สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ : 02 577 9999
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.