วันที่ 13 มกราคม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ธัชชา นำโดย ผศ.ดร.ศรชัย มุ่งไธสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และ ผอ.สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ธัชชา พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและคณะนักวิจัย ได้เข้าร่วมการติดตามเพื่อกำกับดูแลงานวิจัยในพื้นที่ จ.สกลนคร ภายใต้โครงการวิจัย “การพัฒนาชุมชนต้นแบบเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ความยั่งยืนของประเทศ ระยะที่ 2” โดยมี ผศ.ดร.เอกวิทย์ หายักวงษ์ นักวิจัยและอาจารย์ประจำ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และคณะให้การต้อนรับ
.
ซึ่งในวันนี้ได้ตรวจเยี่ยม กิจกรรม การส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมสีธรรมชาติโดยใช้แนวคิดเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-design) เพื่อสานต่อภูมิปัญญาตามวิถีแห่งความพอเพียงในพื้นที่ชุมชนบ้านดอนกอย ต.สว่าง อ.พรรณนานิคม จ.สกลนคร ซึ่ง “ผ้าย้อมคราม” ถือว่าเป็นหัตถกรรมเกษตรที่มีชื่อเสียงของ จ.สกลนคร ที่มีวัฒนธรรมมายาวนานและสอดแทรกไว้ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งนักวิจัยได้เข้ามาช่วยรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมชุมชน ภูมิปัญญาด้านการย้อมคราม และการใช้สีธรรมชาติแบบครบวงจร ที่มีประสิทธิภาพและประหยัดขึ้น ด้วยวัตถุดิบจากท้องถิ่นผ่านกระบวนการแบบพื้นบ้านโบราณ ไร้สารเคมี ไม่เป็นอันตรายต่อผิว ใส่แล้วทำให้รู้สึกเย็นสบาย โดยเริ่มตั้งแต่การคิดค้นเทคนิควิธีการปลูกคราม อัตราส่วนผสม การย้อมคราม และต่อยอดการสร้างสรรค์ผ้าย้อมครามแบบใหม่ ๆ ให้เข้ากับยุคสมัย และได้ตรวจเยี่ยมศูนย์เรียนรู้ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย ที่นักวิจัยได้เข้าไปช่วยออกแบบและพัฒนาการทอผ้าฝ้ายครามให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับชนิดของผ้าและลวดลายของผ้า ให้เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนและจังหวัด รวมถึงใช้แอพพลิเคชั่นที่คิดค้นขึ้นมาจากงานวิจัยเพื่อช่วยออกแบบและจัดเก็บลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ที่เดิมไม่เคยมีการรวบรวมและจัดเก็บไว้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้คนในชุมชนพึ่งพาตนเองได้ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ ซึ่งคาดว่าจะนำไปขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ใน จ.สกลนคร และจังหวัดอื่นที่มีการทำผ้าย้อมครามต่อไป
.
ในงานนี้ ผอ.สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ธัชชา ได้กล่าวว่า โครงการวิจัยการพัฒนาชุมชนต้นแบบเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ความยั่งยืนของประเทศ ระยะที่ 2 นี้จะดำเนินการยกระดับชุมชนสู่การเป็นชุมชนต้นแบบทั้ง 6 ภูมิภาค จำนวน 7 จังหวัด คือ จ.เชียงราย จ.สมุทรสงคราม จ.สกลนคร จ.สุพรรณบุรี จ.กาญจนบุรี จ.จันทบุรี และ จ.พังงา ตามภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง เป็น 1 ใน 5 สถาบันภายใต้ธัชชา ที่จะทำงานเป็นกันเป็นเครือข่าย นำองค์ความรู้ของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ โดยเน้นโครงการวิจัยที่ติดดินกินได้ นำมาขยายผลสร้างผลิตภัณฑ์ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้าน ตามนโยบายกระทรวง อว. ที่ ที่สำคัญต้องมีการถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น เพราะเยาวชนคือกำลังสำคัญในอนาคต และเป้าหมายของเราคือ ต้องการผลักดันให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นโมเดลของการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับนานาชาติ เพราะเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่แค่ด้านการเกษตรเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการของบุคคลทุกระดับ ทุกอาชีพในชีวิตประจำวันอีกด้วย
เผยแพร่ข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.