ดร.ประทีป วงศ์บัณฑิต รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการประชุมถ่ายทอดองค์ความรู้วิธีการและเทคนิคการผสมสารฝนหลวงทางเลือก ให้แก่บุคลากร กรมฝนหลวงและการบินเกษตร นำโดย นายฉันติ เดชโยธิน ผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์บรรยากาศประยุกต์ เพื่อเป็นแนวทางในการผลิตสารฝนหลวงทางเลือก พร้อมนำไปขยายผลและพัฒนาด้านอื่นๆ เพิ่มเติมต่อไป ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้ โครงการการใช้สารฝนหลวงทางเลือกสำหรับการปฏิบัติการฝนหลวง จากพระราชดำริส่วนพระองค์ใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อสร้างฝนเทียมสำหรับบรรเทาความแห้งแล้งให้กับเกษตรกร
วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ (ศนว.) ได้มีโอกาสร่วมนำความรู้ความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยในการวิจัยและพัฒนาสารฝนหลวงทางเลือก เพื่อร่วมสืบสานและต่อยอดโครงการในพระราชดำริดังกล่าว จากการวิจัยและพัฒนาสารฝนหลวงทางเลือกของ วว. ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาสารฝนหลวงทางเลือกสูตร AR23 ซึ่งผ่านการทดลองในห้องปฏิบัติการและทดลองนำขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงไปแล้วนั้น ผลการทดลองที่ได้แสดงให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้อย่างมากในการนำสารฝนหลวงทางเลือกที่พัฒนาขึ้น ไปใช้ในการปฏิบัติการฝนหลวงในสภาวะอากาศที่มีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 60% ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มโอกาสในการขึ้นปฏิบัติการได้ โอกาสนี้ ดร.อาริสา ใจอยู่ นักวิจัยอาวุโส นายบวร นฤทัย และนางสาวณัฐพร ชิติชัยรัตนภูมิ นักวิจัย ศนว. ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายถ่ายทอดความรู้ฯ ในวันที่ 9 มกราคม 2567 ณ ห้องประชุม RD 2-3 วว. เทคโนธานี คลองห้า จ.ปทุมธานี
ข้อมูลโดย : สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ : 02 577 9300
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.