ดร.วดี วิชัยดิษฐ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการสัมมนา เรื่อง “IoT Technology และการประยุกต์ใช้งานเพื่อความยั่งยืน” โดยการสนับสนุนจาก กองทุนส่งเสริม วิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ภายใต้ โครงการยกระดับศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ตามนโยบายรัฐบาลและนโยบาย นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” จัดโดย กลุ่มบริการอุตสาหกรรม วว. เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านมาตรฐานและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับไอโอที สู่การนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งเผยแพร่ความสามารถการบริการทดสอบให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายแก่ผู้ประกอบการและผู้สนใจ ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพฯ
“…วว. โดย กลุ่มบริการอุตสาหกรรม มีบทบาทหลักในด้านการบริการวิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ งานด้านการตรวจประเมินและรับรองระบบคุณภาพ งานบริการที่ปรึกษาการจัดทำระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการ รวมถึงให้ความรู้ผ่านการอบรมและสัมมนา ซึ่งมีบทบาทในยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ภายใต้วิสัยทัศน์ของ วว. ที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ SMEs และชุมชนผ่านระบบนิเวศนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน ปัจจุบัน มีการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ไปสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการนำอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things : I0T) เข้าไปช่วยเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะหรืออุปกรณ์ไอโอทีไปประยุกต์ใช้ใน Smart City, Smart Farm, ด้านการป้องกันประเทศ ด้านการแพทย์ และด้านยานยนต์ไฟฟ้า โดย วว. ได้ขยายการให้บริการทดสอบอุปกรณ์ไอโอทีเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม ทำให้ผู้ประกอบการมีทางเลือกในการทดสอบมากยิ่งขึ้น ช่วยลดต้นทุนผลิต เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการและเศรษฐกิจของประเทศ…” ผู้อำนวยการ ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา วว. กล่าวสรุป
การสัมมนา IoT Technology และการประยุกต์ใช้งานเพื่อความยั่งยืน ประกอบด้วยการบรรยายพิเศษในหัวข้อ 1) มาตรฐาน IoT และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง 2) การทดสอบอุปกรณ์ไอโอที 3) IoT Technology & Trends 4) IoT ในยานยนต์ไฟฟ้า 5) IoT ในอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ 6) การประยุกต์ใช้ IoT เพื่อความยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ได้แก่ ส่วนนโยบายและส่งเสริมด้านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) สมาคมไทยไอโอที สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย สมาคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ บริษัท อาร์เอฟ แอพพิเคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการด้าน IoT Solution ของฝ่ายบริการธุรกิจดิจิทัล บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)
โดยได้รับความสนใจจาก ผู้ประกอบการ ผู้นำเข้า ผู้ผลิต นักวิจัย กลุ่มลูกค้า และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่ที่คาดว่าจะมาใช้บริการ วว. ในอนาคต ประมาณ 120 ท่าน เข้าร่วมการสัมมนา ซึ่งจะได้นำความรู้ ความเข้าใจจากการสัมมนานี้ไปเป็นแนวทางในการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไทย ตลอดจนการสนับสนุนจากภาครัฐด้วยนโนบายส่งเสริมการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาส ลดอุปสรรค ทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจให้ยั่งยืนต่อไป
วว. พร้อมให้บริการผ่านแพลตฟอร์มระบบบริการลูกค้าออนไลน์ “วว. JUMP” www.tistr.or.th (https://tistrservices.tistr.or.th/) เพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วให้แก่ลูกค้า หรือติดต่อได้ที่ Call center โทร. 0 2577 9000
ข้อมูลโดย : สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ : 02 577 9300
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.