เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วย รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากด้วยนวัตกรรมชุมชนและพัฒนาขีดความสามารถใหม่ของผู้ประกอบการด้านการเกษตรและประมง เยี่ยมชมผลงานนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำราชมงคลตรังและโรงพยาบาลสัตว์ทะเลหายาก พร้อมรับฟังการนำเสนอการใช้ประโยชน์นวัตกรรมผลงานวิจัยจากผู้แทนชุมชน ผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยมี นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการ จ.ตรัง ศ.ดร.สุวัจน์ ธัญรส อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย นายอดุลย์ หมื่นลึก นายอำเภอปะเหลียน จ.ตรัง ผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย และประชาชนกว่า 200 คน เข้าร่วม ณ หอประชุมปัญญาอนุสรณ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง จ.ตรัง
นายศุภชัย กล่าวว่า การนำนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม มาถ่ายทอดความรู้ให้กับครัวเรือนเกษตรกรและชนบท เป็นการช่วยเพิ่มสมรรถนะการผลิต สร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของ จ.ตรัง โดยการขับเคลื่อนผลงานวิจัยในพื้นที่จังหวัดตรังดำเนินการไปแล้วกว่า 20 ตำบล 30 หมู่บ้าน สร้าง “นวัตกรรมชุมชน” แล้วกว่า 2,000 ครัวเรือน ส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากเติบโตเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาของดีที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ จ.ตรัง เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตไก่ดำบ้านเขาหลัก การพัฒนาระบบการเลี้ยงหอยนางรมแบบความหนาแน่นสูงในชุมชนแม่น้ำปะเหลียน ต.วังวน อ.กันตัง การพัฒนาเตาชีวมวลประหยัดพลังงานสำหรับกระบวนการผลิตหมูย่างของชุมชน ต.นาโยงเหนือ อ.นาโยง การพัฒนาผลิตภัณฑ์อัพไซคลิ่งจากขยะชุมชนเกาะลิบง ต.เกาะลิบง อ.กันตัง การพัฒนาศักยภาพการผลิตและกระบวนการแปรรูปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการพริกไทยพันธุ์ปะเหลียนใน อ.ปะเหลียน การจัดการน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกข้าวพื้นเมืองตรัง ในพื้นที่ ต.นาโยงเหนือ อ.นาโยง เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่กล่าวมานั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่กระทรวง อว. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่และหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่าง ๆ นำองค์ความรู้เข้ามาพัฒนาต่อยอดให้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ได้มุ่งเน้น 4 มิติหลัก ได้แก่ (1) ด้านการท่องเที่ยว มุ่งหวังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการจัดการแหล่งท่องเที่ยวและยกระดับสู่เมืองอัจฉริยะ (2) ด้านการเกษตร ส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อสร้างมูลค่า (3) การทำให้อันดามันเป็นเมืองอัจฉริยะ โดยส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจดิจิทัลตามแนวทางประเทศไทย 4. 0 และ (4) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รักษาสมดุลระหว่างการท่องเที่ยวและเกษตร พร้อมรับมือมลพิษจากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว
นายศุภชัย กล่าวต่อว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ในฐานะ อว.ส่วนหน้ามีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้างความร่วมมือกับสถาบันวิชาการในพื้นที่ หน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ จ.ตรัง ในการนำเทคโนโลยีไปพัฒนาชุมชน สร้างอาชีพ กระจายรายได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นไปตามที่ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. ได้ให้นโยบายการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง เปลี่ยนจาก “งานวิจัยขึ้นหิ้ง” ให้เป็น “งานวิจัยขึ้นห้าง” เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ
"กระทรวง อว. พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ ในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปช่วยแก้ไขปัญหา ตอบสนองความต้องการของกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน" ผู้ช่วย รมว.การอุดมศึกษาฯ กล่าว
การลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากด้วยนวัตกรรมชุมชนและพัฒนาขีดความสามารถใหม่ของผู้ประกอบการด้านการเกษตรและประมง จ.ตรัง ในครั้งนี้ จัดขึ้นโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการ “ขยายผลวิจัยเทคโนโลยีพร้อมใช้เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและแก้หนี้ครัวเรือน” ร่วมกับมหาวิทยาเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง หน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ จ.ตรัง โดยมีวัตถุประสงค์ในการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมและพร้อมใช้เข้ามาช่วยพัฒนาชุมชน สร้างอาชีพ กระจายรายได้ให้ชุมชน ให้ประชาชนในพื้นที่ จ.ตรัง ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ทำข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติถ่ายภาพ : นางสาวอชิรญา รุจิระกุลสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกลุ่มสื่อสารองค์กรโทรศัพท์ 0 2333 3700E-mail : pr@mhesi.go.thFacebook : MHESIThailandInstagram : mhesithailandTiktok : @mhesithailandX (Twitter) : @MHESIThailandYouTube : @MHESIThailand