เมื่อวันที่ 25 เม.ย. นางสาวสุชาดา ซาง แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เข้าร่วมการเสวนาโจทย์ประเทศไทยในหลักสูตรการออกแบบนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รุ่นที่ 7 โดยมี ดร.สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ประธานกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ ดร.ธีราภา ไพโรหกุล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ดร.แบ๊งค์ งามอรุณโชติ ผู้อำนวยการ สถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เข้าร่วมเสวนา ณ อาคาร KX ชั้น 10 ห้อง X04AB
นางสาวสุชาดา กล่าวว่า เวทีเสวนานี้สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของกระทรวง อว. ในการสร้างกลไกเชื่อมโยงองค์ความรู้เชิงวิชาการเข้ากับการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ โดยเฉพาะในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายหลากหลายด้าน ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี สะท้อนโจทย์ใหญ่ที่เห็นว่า นักวิจัยเชิงนโยบายควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ได้แก่ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการเพิ่มรายได้และลดความยากจนเชิงโครงสร้างอย่างตรงจุด การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลที่แม่นยำและการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะการผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น Semiconductor และ Advanced Electronics
“งานวิจัยเชิงนโยบายที่สามารถขับเคลื่อนได้จริง ต้องมี ความชัดเจน ตรงประเด็น ข้อมูลเชื่อถือได้ มีความเป็นไปได้ในการปฏิบัติ และสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงต้องไม่ละเลยบริบททางสังคม วัฒนธรรม และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน กระทรวง อว. มีความมุ่งมั่นในการสนับสนุนการพัฒนานโยบายที่ขับเคลื่อนจากฐานข้อมูลและวิทยาศาสตร์ อาทิ โครงการพัฒนากำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์ 84,900 คน ภายในปี 2573 การจัดตั้ง Higher Education Sandbox เปิดหลักสูตรใหม่ตรงตามความต้องการ เช่น Semiconductor Engineering และฉุกเฉินการแพทย์ การพัฒนา Thai Water Platform เป็นคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ เพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมขับเคลื่อน Skill Portfolio และ National Credit Bank ช่วยให้ประชาชนสามารถเก็บสะสมหน่วยกิตจากการเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ เพื่อขอรับปริญญา หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเวทีนี้จะเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนานโยบายที่ตอบโจทย์ประเทศอย่างแท้จริง”เลขา รมว. กล่าว
ดร.ธีราภา กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging Society) อย่างสมบูรณ์ ซึ่งส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน จึงจำเป็นต้องผลักดันนโยบายที่ส่งเสริมให้เกิดการมีบุตร รวมถึงเน้นการพัฒนาคุณภาพประชากรในระยะยาว อีกทั้งงานวิจัยจำนวนมากยังคงถูก “ขึ้นหิ้ง” ไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง ทั้งที่ควรเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการแก้ปัญหาสังคม จึงอยากให้นักวิจัยรุ่นใหม่ช่วยกันคิดต่อยอดงานวิจัยให้สามารถนำไปใช้ได้จริงในเชิงนโยบาย พร้อมกันนี้ ยังได้กล่าวถึงโจทย์สำคัญในอนาคตว่า รัฐจำเป็นต้องปฏิรูประบบราชการ โดยเฉพาะการปรับระบบราชการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย ยกระดับสู่การบริหารจัดการภาครัฐยุคใหม่อย่างแท้จริง
ดร.สิทธิพล กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการยกระดับระบบราชการให้เป็นระบบอัตโนมัติ รวดเร็ว และ Paperless มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเสนอว่าเทคโนโลยีของรัฐควรใช้งานง่ายเข้าถึงได้จริง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการประชาชน และลดปัญหาคอร์รัปชัน อีกทั้งไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากการหดตัวของเศรษฐกิจ ค่าจ้างต่ำ และอัตราการจ้างงานลดลง ส่งผลให้คนรุ่นใหม่จำนวนมากเลือกย้ายถิ่นฐานไปต่างประเทศ ดังนั้น รัฐควรส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติที่มีคุณภาพ คัดกรองอย่างรอบคอบ และวางแผนรองรับการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อให้การลงทุนเกิดความคุ้มค่าและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกัน คุณภาพการศึกษายังเป็นอีกจุดอ่อนสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข เพื่อผลิตแรงงานทักษะสูงรองรับความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ
ข่าว : นางสาวปาลิตา ตระกูลพานิชย์กิจ
ถ่ายภาพ : นายสุรกิต แก้วมรกต
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
Call Center 1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.