วันที่ 17 สิงหาคม 2563 ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานในพิธีแถลงข่าวเปิดตัวนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2563 จัดโดยมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ
ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลครั้งนี้ว่า การศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมของประเทศไทย ทำให้เกิดลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากภายนอก ตามแนวคิด ไทยคิด ไทยประดิษฐ์ ไทยพัฒนา เปลี่ยนจากประเทศผู้ซื้อเทคโนโลยีมาเป็นผู้สร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้ประเทศพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ รวดเร็ว มีระบบ และยั่งยืน และสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีภารกิจในการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า โดยการแสวงหาความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษา ภายใต้สภาพสังคมที่มีการแข่งขันและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
“รางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น”นอกจากจะเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรตินักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานดีเด่นแล้ว ยังเป็นการสร้างปูชนียบุคคล หรือที่เรียกว่า “ไอดอล” ให้เยาวชนรุ่นหลังได้ยึดถือไว้เป็นแบบอย่าง ที่สำคัญคือเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างบุคลากรด้านการวิจัยที่จะเป็นผู้สร้างองค์ความรู้ใหม่ให้เกิดขึ้นภายในประเทศ และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศต่อไป นอกจากนี้รางวัล “นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่” ถือเป็นการสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์ที่มีอายุยังน้อย แต่มีศักยภาพในการทำงานวิจัยที่มีคุณภาพ เป็นการให้กำลังใจในการทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดีในอนาคต” รมว.อว. กล่าว
ด้าน ศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล ประธานคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น กล่าวว่า การพัฒนาและขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยนักวิจัยเพื่อคิดค้นองค์ความรู้ สร้างสรรค์เทคโนโลยีที่มีศักยภาพเพื่อต่อยอดไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ พร้อมเปลี่ยนจากประเทศผู้ซื้อเทคโนโลยีมาเป็นผู้สร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ และสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบันในด้านต่าง ๆ อาทิ Energy and Environment, Biotechnologies, Advanced Functional Materials, และ Digital Technologies เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (First S-curve และ New S-curve) โดยเฉพาะโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ซึ่งจะนำมาสู่การพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงภายใต้โมเดล “ประเทศไทย 4.0” ของรัฐบาล
“ปัจจุบันการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ ใน 141 ประเทศทั่วโลก (The Global Competitiveness Report) พบว่า ระดับความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศไทยอยู่อันดับที่ 40 และความสามารถด้านนวัตกรรมอยู่อันดับที่ 50 โดยการวิจัยและพัฒนา (Research & Development) อยู่อันดับที่ 56 การใช้สิทธิบัตร (Patent applications) อยู่อันดับที่ 66 และมีงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนา (R&D expenditures) อยู่อันดับที่ 54 อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงงานวิจัยที่มีคุณภาพดีเด่น (High Quality & High Impact) ทางด้านวิทยาศาสตร์ จากการจัดอันดับของ nature index ranking พบว่า ขีดความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 41 ของโลก จาก 172 ประเทศ และเป็นอันดับที่ 9 ในกลุ่ม Asia Pacific จาก 30 ประเทศ และเมื่อพิจารณาในกลุ่ม ASEAN 10 ประเทศ อันดับ 1 คือประเทศสิงคโปร์ ส่วนประเทศไทยเป็นอันดับที่ 2 ตามด้วยประเทศ เวียดนาม มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย ในขณะที่ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพดีเด่นทางด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยพบว่ามีเพียง 7.7% เท่านั้น เมื่อเทียบกับประเทศสิงคโปร์” ดังนั้น เพื่อเป็นการยกระดับประเทศไทยให้ก้าวไปสู่การพัฒนาแบบก้าวกระโดด เช่นเดียวกับประเทศชั้นนำในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือสิงคโปร์นั้น จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมความเป็นเลิศในสาขาวิจัยที่สร้างศักยภาพให้กับประเทศ การเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การสนับสนุนนักวิจัยและผู้นำกลุ่มนักวิจัยชั้นแนวหน้า และการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนด้านการวิจัย เพื่อเร่งสร้างนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ฯลฯ ที่มีคุณภาพให้เพียงพอต่อความต้องการและให้ทันต่อการพัฒนาประเทศชาติให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนอย่างแท้จริง
สำหรับในปีนี้ ผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2563 ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 400,000 บาท ประกอบด้วย
รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2563 ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 100,000 บาท ได้แก่
ข่าว : นางสาวพจนพร แสงสว่าง
ภาพ : นายภูมินทร์ ปั้นเล็ก
วีดีโอ : นายสุเมธ บุญเอื้อ
ส่วนสื่อสารองค์กร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทร. 02 333 3727 – 3732 โทรสาร 02 333 3834
E-Mail: pr@mhesi.go.th Facebook: MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.