วันที่ 27 สิงหาคม 2563 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาตสร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนาออนไลน์หัวข้อ “นวัตกรรมการจัดสรรงบประมาณการวิจัยของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อการขับเคลื่อนประเทศในยุค New Normal” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อสื่อสารข้อมูลและสร้างความเข้าใจให้กับหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ระบบ ววน.) ตลอดจนสาธารณชน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนทุนวิจัย ที่จะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญของประเทศไทยในการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและขับเคลื่อนสังคมต่อไปได้ในยุค New Normal พร้อมปาฐกถาพิเศษเรื่อง “อว. สร้างไทย สร้างชาติด้วยระบบ ววน.” ณ โรงแรม แบงค็อก แมริออทมาร์คีส ควีนส์พาร์ค กรุงเทพฯ
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวว่า ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้พิจารณาถึงบริบทสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาภายใต้นโยบายและยุทธศาสตร์ อว. 8 ด้าน ดังนี้
1) ปีงบประมาณ 2564 กองทุนส่งเสริม ววน. ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 19,316.63 ล้านบาท เป็นงบประมาณที่จัดสรรไปยังหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) 7 แห่ง มหาวิทยาลัย จำนวน 90 หน่วยงาน และหน่วยงานทั้งในและนอกกระทรวง จำนวน 76 หน่วยงาน โดยเสนอให้ สกสว. และสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกันบริหารจัดการงบประมาณที่ชัดเจนและให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม หรือเป็นพันธมิตรภาคีกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่เสริมบทบาทการทำงานซึ่งกันและกัน โดยขอความร่วมมือจากภาคเอกชนในการลงทุนเพื่อการวิจัยของประเทศมากขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกัน คือ มุงพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยการสร้างงานวิจัยและผลิตผลงานวิจัย รวมถึงการติดตามผลสัมฤทธิ์ของการวิจัยและนวัตกรรม
2) การขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานทรัพยากรให้เป็นประเทศเกษตรกรรมยุคใหม่ และธุรกิจเป้าหมายที่จะช่วยยกระดับชุมชนท้องถิ่นให้ไปสู่ระดับโลก โดยเน้นการทำธุรกิจชีวภาพที่ตอบโจทย์การหมุนเวียนอย่างคุ้มค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Bio – Circular - Green Economy : BCG)
3) การพัฒนาเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมและวางรากฐานอนาคต การเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม โดยนำนวัตกรรมเข้ามาร่วมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเข้มข้น ทั้งในเชิงการผลิต (Production) ปรับปรุงกระบวนการ (Process) และแก้ไขปัญหา เพิ่มคุณค่าการให้บริการ (Services) โดยอยากให้ไทยเป็นประเทศที่ทันสมัยและพึ่งพาตนเองได้ เช่น หน่วยงานภาครัฐหรือมหาวิทยาลัยเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากวิสาหากิจชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรม หรือการวิจัยและนวัตกรรมชุดป้องกันการติดเชื้อสำหรับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ หรือ ชุด PPE แบบที่ซักล้างได้ เป็นต้น
4) การเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์และพลังทางสังคมเพื่อการพัฒนาที่สมดุล โดยเฉพาะมิติทางคุณค่าศิลปวัฒนธรรม ความมีสุขภาวะที่ดี ความมั่นคงด้านอาหาร สวัสดิการที่อยู่อาศัยการมีความยืดหยุ่นสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยการสนับสนุนการวิจัยเรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เพื่อสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เป็นมนุษย์ทั้งในโลกไซเบอร์และโลกที่เป็นจริง ให้สนใจเรื่องอนาคตและเห็นคุณค่าของอดีตตามแนวทางของพหุวิทยาการ ซึ่งจะทำให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มากขึ้น
5) จัดทำคู่มือหรือรายงานเพื่อรวบรวมผลงานวิจัยเพื่อเป็นฐานความรู้ในการพัฒนาประเทศ เช่น การเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเล เป็นต้น ทั้งนี้ รัฐบาลได้จัดตั้งโครงการ “ขับเคลื่อนไทย” โดยให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงเข้าไปสนับสนุนการทำงานในการพัฒนาจังหวัดของผู้ว่าราชการจังหวัด สำหรับ อว. อาจจะแต่งตั้งคณะกรรมการ 1 ชุด ประกอบด้วย อธิการบดี หน่วยงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน เพื่อร่วมกันจัดทำคู่มือหรือรายงานความรู้ที่จะนำมาใช้ประโยชน์ให้เห็นเป็นเชิงประจักษ์และยกระดับให้เป็นกระทรวงแห่งการปฏิบัติ
6) ให้ สกสว. และ สอวช. ร่วมกันจัดทำรายงานวิจัยประจำปี สำหรับเป็นฐานความรู้ของประเทศ
7) ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้อายุ จึงจำเป็นต้องจัดสรรทุนวิจัยเรื่องนี้ เพื่อให้ผู้สูงอายุซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ มีสุขภาพที่ดี มีความสุข และส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ทักษะใหม่ในการดำเนินชีวิต เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์สู่คนรุ่นใหม่ต่อไป
และ 8) การ ปฏิรูประบบ อว. ทั้งในการปรับปรุงกฎระเบียบที่เอื้อต่อการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม การปรับโครงสร้างการทำงานของหน่วยงานในกระทรวงให้มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพในการทำงาน การพัฒนาระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่เหมาะสม เพื่อตอบโจทย์ให้การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นทุกข้อให้ได้
นอกจากนี้ การทำงานของกระทรวง อว. จะไม่เน้นเฉพาะประเด็น ววน. เท่านั้น แต่ให้ความสำคัญกับทุกศาสตร์ ทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รวมทั้งมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์และศิลปกรรม โดยเฉพาะการสนับสนุน local economy ที่ต้องมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาสังคม รวมทั้งการพัฒนาชุมชนด้วยฐานงานวิจัยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน โดยนำธรรมะและปัญญามาใช้เพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ข่าว : นางสาวพจนพร แสงสว่าง
ภาพ : นายภูมินทร์ ปั้นเล็ก
วีดีโอ : นายสุเมธ บุญเอื้อ
ส่วนสื่อสารองค์กร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทร. 02 333 3727 – 3732 โทรสาร 02 333 3834
E-mail: pr@mhesi.go.th Facebook: MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.