วันที่ 19 กันยายน 2563 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) พร้อมด้วย ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการ รมว.อว. รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และผู้บริหารกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เยี่ยมชมการดำเนินงานของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA และรับฟังการบรรยายบทบาทภารกิจของ GISTDA โดยมี รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานกรรมการ GISTDA และ ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA พร้อมคณะให้การต้อนรับ ณ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ หรือ SKP อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวว่า เมื่อประมาณ 20 – 30 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการเรื่องการสร้างกำลังคน การจัดองค์กรและการจัดหาระบบที่จะมาช่วยทำให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย ซึ่งกำลังพัฒนาสูงขึ้นหรือเรียกว่า Take Off โดยงบประมาณที่สนับสนุนให้คนไปศึกษาต่อในต่างประเทศหรือคนที่ได้รับการศึกษาภายในประเทศในสาขาต่าง ๆ ไปสู่ภาคการปฏิบัติจริง เปรียบเหมือนเครื่องบินที่ค่อย ๆ วิ่งอยู่บนลานสนามบินหรือ Runway แล้ววิ่งเร็วขึ้นจนทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า จะเห็นได้จากการตรวจเยี่ยมหน่วยงาน อว. หลายแห่ง เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (eeci) อ.วังจันทร์ จ.ระยอง และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมถึง GISTDA ด้วย ทั้งนี้ ยังได้มอบหมายให้ GISTDA จัดทำฐานข้อมูลเปรียบเทียบสมรรถนะและศักยภาพของงานด้านอวกาศและสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ที่ใช้ดาวเทียมและระบบ Remote sensing เพื่อจัดอันดับของไทยกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ ต่อไป และให้ GISTDA เร่งกลับมาดำเนินการเรื่องการอบรม geoinformatics หรือภูมิสารสนเทศศาสตร์ที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งได้ชะลอการดำเนินงานออกไปก่อน เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเสนอให้ทำการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ซึ่งมีความพร้อมในทุก ๆ ด้านอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก รมว.อว. ยังได้ส่งเสริมให้ริเริ่มการสร้าง Spaceport (สนามบินสำหรับยานอวกาศ) เพื่อเป็นสถานีในการยิงจรวดและดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศและรับกลับคืนสู่โลก เนื่องจากประเทศไทยมีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์คือเป็นประเทศ 1 ใน 7 ในโลกที่สามารถสร้าง Spaceport ได้ดีที่สุด โดยเฉพาะจังหวัดนราธิวาส เพราะเป็นพื้นที่ขนาบข้างด้วยทะเลมหาสมุทรทั้ง 2 ฝั่ง และอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร รวมทั้งไม่อยู่ในเขตแผ่นดินไหว หรือถ้าเป็นก็เพียงครั้งคราวและมีระดับความรุนแรงที่ต่ำ หากมีการลงทุนเรื่องนี้จะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ภาคใต้และทำให้ประเทศไทยมีรายได้สูงขึ้น และยังทำให้เกิดองค์ความรู้จากคนที่มีความสามารถเกี่ยวกับจรวดและดาวเทียมทั้งทั่วประเทศและทั่วโลก แต่ต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบและระมัดระวังมากที่สุด
ด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวเสริมว่า ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจาการสร้าง Spaceport มี 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) เป็นการสร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นให้เกิดการใช้เทคโนโลยีด้านอวกาศในประเทศไทย เพราะประเทศที่พัฒนาได้ต้องประกอบด้วยองค์ความรู้หลักที่มาจากเทคโนโลยี วิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ และ 2) ด้านอุตสาหกรรม โดย Spaceport จะสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย ทำให้ประชาชนกินอยู่ดีมากขึ้น รวมถึงจะก่อให้เกิดอุตสาหกรรมการก่อสร้าง อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และไม่ใช่เพียงด้านอุตสาหกรรมอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการสร้างงานมากขึ้น ตลอดจนเกิดพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ข่าวและภาพ : นางสาวพจนพร แสงสว่าง
วีดีโอ : นายภูมินทร์ ปั้นเล็ก
ส่วนสื่อสารองค์กร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทร. 02 333 3727 – 3732 โทรสาร 02 333 3834
E-Mail: pr@mhesi.go.th Facebook: MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.