เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2563 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) และคณะผู้บริหารกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่เทศบาลเมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเยี่ยมชมโครงการ “การพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมชุมชน ผ่านกลไกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาสังคม เพื่อเพิ่มศักยภาพและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่” ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานการพัฒนาภูมิภาคและจังหวัด 4.0 โดยได้ชมย่านเมืองเก่าทุ่งสง อาทิ ย่านบ้านพักรถไฟสถานีชุมทางทุ่งสง โรงรถจักรทุ่งสง โรงพยาบาลทุ่งสง ชุมทางทุ่งสง ย่านยิบอินซอย ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายในการขยายผลจากโครงการ การพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมชุมชน ผ่านกลไกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาสังคม เพื่อเพิ่มศักยภาพและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่ ฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. กล่าวว่า จากการลงพื้นที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราชในครั้งนี้ พบว่า ภายหลังจากวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจในพื้นที่ไม่ได้รับผลกระทบเท่าที่ควร เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ยังเป็นคนในทุ่งสงและจังหวัดอื่น ๆ ใกล้เคียงที่หลั่งไหลกันมาไม่หยุด จึงไม่ได้พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างประเทศมากนัก แต่ต้องอาศัยการวิจัยและนวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ ซึ่งสถิติของผู้ประกอบการในครัวเรือนในหลาดทุ่งสงที่ใช้การวิจัยและนวัตกรรมในการผลิตสินค้า ภายในเวลา 1 – 2 ปี จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 138 % หรือ 1.3 เท่า
“ทุ่งสงเป็นตัวอย่างของงานวิจัยที่มีวัฒนธรรมวิจัย ตรงนี้ก็สามารถขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ เป็นแบบอย่างให้กับพื้นที่อื่นๆ ได้ ถ้าเราทำแบบนี้ได้ประเทศก็จะเจริญขึ้น ถ้าเราทำวิจัยและเริ่มทำสิ่งที่สร้างสรรค์ได้มากขึ้น เกิดความร่วมมือระหว่างนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์และชาวบ้านได้ ประเทศชาติก็จะดีขึ้นได้ และขอให้กำลังใจชาวทุ่งสงทำต่อไป ทาง อว. ยินดีที่จะสนับสนุนให้มากที่สุด” รมว.อว. กล่าว
นายทรงชัย วงษ์วัชระดำรง นายกเทศมนตรีเมืองทุ่งสง กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานของหลาดชุมทางทุ่งสง ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว หากนับถึงวันนี้เป็นครั้งที่ 134 ของหลาดชุมทางทุ่งสงที่จัดขึ้น นับเป็นตลาดวัฒนธรรมที่เกิดจากการวิจัยเชิงพื้นที่ สามารถสร้างความตระหนักให้กับบุคลากรและเปลี่ยนความคิดของบุคลากรได้ ทำให้เทศบาลเมืองทุ่งสงเห็นความสำคัญของงานวิจัย ซึ่งปัจจุบันการทำงานของเทศบาลทุ่งสงผ่านการวิจัยทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา สังคม สิ่งแวดล้อม เพราะงานวิจัยสามารถสร้างความเข้าใจสร้างความตระหนักสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนได้ มีการนำปัญหาสาเหตุของเมืองมาเป็นบทเรียนสอนให้กับเด็กในสังกัดเทศบาล จะเห็นว่างานวิจัยยังสามารถสร้างความตระหนักให้กับเด็ก ๆ ได้ด้วย
ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และประธานแผนงานการพัฒนาภูมิภาคและจังหวัด 4.0 กล่าวว่า งานทุนวัฒนธรรม คือตัวอย่างที่ดีของงาน area based ที่สามารถเชื่อมร้อยการทำงานของแต่ละหน่วยงานให้เกิดการทำงานร่วมกัน และสร้าง Outcome และ Impact จากเป้าเดียวกันให้เกิดผลลัพธ์ที่มีพลังได้ ได้แก่ การทำ Culture mapping เพื่อหารากเหง้าประวัติศาสตร์ของตนเอง และยกระดับไปสู่การตั้งเป้าหมายร่วม นำไปสู่การกำหนดข้อมูลและกติกา ได้เป็นแผนดำเนินโครงการ เกิดการปฏิบัติ และเกิดผลลัพธ์ตามที่ต้องการในท้ายที่สุด
“จากจุดเริ่มต้นของการสร้างพื้นที่ทางวัฒนธรรม 8 พื้นที่ในปี 2560 ภายใต้ทุนของ สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย - สกว. ที่ปัจจุบันคือ สกสว.) ได้ขยายพื้นที่วิจัยเพิ่มเป็น 18 จังหวัด ภายใต้แผนงานการพัฒนาภูมิภาคและจังหวัด 4.0 (SIP) ในปี 62 ล่าสุดตามนโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการ อว. ก็จะขยายเป็นอย่างน้อย 38 จังหวัด ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) แสดงถึงจุดเด่นของชุดโครงการนี้ที่ใช้กระบวนการจัดการการเรียนรู้ร่วมกันและกระบวนการจัดการความสัมพันธ์ ผ่านกลไก Collaboration Mechanism” ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย กล่าว
รศ.ดร.สุพรรณี ฉายะบุตร หัวหน้าโครงการการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมชุมชน ผ่านกลไกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาสังคม เพื่อเพิ่มศักยภาพและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่ และคณะกรรมการประชาคมทางวัฒนธรรมเมืองทุ่งสง กล่าวเพิ่มเติมถึงความสำเร็จของโครงการวิจัยว่า หลาดชุมทางทุ่งสง เป็น 1 ใน 18 พื้นที่ ซึ่งตลาดวัฒนธรรมภายใต้การดำเนินโครงการในเฟสแรก โดยการนำข้อมูลแผนที่ทางวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้แผนที่ทางวัฒนธรรมเข้ามาเป็นเครื่องมือในการออกแบบและพัฒนา ทั้งนี้ การวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) จากการสำรวจข้อมูลห่วงโซ่อุปทานของผู้ประกอบการ 114 ราย ของ 8 พื้นที่วัฒนธรรม ได้แก่ พื้นที่วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน อุดรธานี หนองคาย กาญจนบุรี ปากเกร็ด และเกาะสีชัง พบว่า มูลค่าการขายสินค้าและบริการหลังมีการจัดกิจกรรมเปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรม เพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 128.1 ของมูลค่าการขายก่อนจัดกิจกรรม โดยมีสาเหตุหลักมาจากปริมาณการขายที่เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 162.86 ขณะที่ราคาสินค้าและบริการก่อนและหลังจัดกิจกรรมไม่เปลี่ยนแปลง ต้นทุนการผลิตที่นำมาจากนอกชุมชนคิดเป็นร้อยละ 51.09 ของต้นทุนรวม สะท้อนให้เห็นว่า การนำทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนมายกระดับให้เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนเพิ่มขึ้น
ข้อมูลโดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
ข่าวและภาพ : นางสาวพจนพร แสงสว่าง
ส่วนสื่อสารองค์กร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทร. 02 333 3727 – 3732 โทรสาร 02 333 3834
E-Mail: pr@mhesi.go.th Facebook: MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.