เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2563 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เข้าร่วมการสนทนาผ่านทางรายการ Suthichai Academy’s Talk Show ภายใต้หัวข้อ “ประเทศไทยภายใต้พายุแห่งการเปลี่ยนผ่าน” ณ The Street Arena รัชดา
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวว่า ท่านนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ดำรงตำแหน่ง รมว.อว. ทำให้ต้องมีการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่มีอยู่ภายในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จำนวนมาก และมองเห็นโอกาสจากสถานการณ์โควิด – 19 ที่ผ่านมา พบว่า ประเทศกำลังเผชิญกับพายุแห่งการเปลี่ยนผ่าน โดยต้องตระหนักถึงความมั่นคงทางสาธารณสุขมากขึ้น โดยเฉพาะโรคระบาดเป็นเรื่องที่สำคัญ ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลและเสียชีวิตภายในประเทศน้อยที่สุด อีกทั้งยังสามารถคิดค้นวัคซีนได้ในระดับแนวหน้าของโลกและผลิตชุด PPE เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ได้ในราคาไม่ถึง 1,000 บาทต่อชุด ซักได้ถึง 50 ครั้ง ซึ่งมีบริษัทเอกชนในต่างประเทศให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ อว. จะเป็นหน่วยงานที่สามารถตอบโจทย์การเปลี่ยนผ่านของประเทศได้เป็นอย่างดี จะเห็นได้จากการส่งเสริมให้มีการวิจัยเริ่มตั้งแต่ระดับชาวบ้านทั่วไป แตกต่างจากเมื่อก่อนที่การทำวิจัยจะมีเพียงเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีระดับการศึกษาหรือความรู้สูงเท่านั้น และจะดำเนินการปฏิรูปการอุดมศึกษาให้ไปสู่เป็นภาคการปฏิบัติมากขึ้น โดยมหาวิทยาลัยจะมีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงานในปัจจุบัน ที่มุ่งเน้นให้บัณฑิตที่เพิ่งจบการศึกษาสามารถทำงานได้เลย ยกตัวอย่าง เช่น หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิศวกรรมระบบราง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้เข้าฝึกปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการตลอดชั้นปีที่ 2 ซึ่งทำให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ที่ดีในการฝึกงาน ได้ลงมือปฏิบัติงานจริง ในสถานที่จริง สามารถคิด วิเคราะห์ และแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งจะผลดีต่อคุณภาพบัณฑิตและคุณภาพแรงงานในอนาคต
“ประเทศไทยมีงบประมาณการวิจัยกว่า 3 หมื่นล้านบาท อยู่ที่ อว. จำนวน 1.9 หมื่นล้านบาท และกระทรวงอื่น ๆ อีก 1.1 หมื่นล้านบาท แต่ภาคเอกชนลงทุนงบประมาณการวิจัยต่อปี ประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ดังนั้น เราจะต้องให้เอกชนสนใจลงทุนวิจัยมากขึ้น โดยมหาวิทยาลัยต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้รองรับกับภาคธุรกิจ เช่น เรื่อง digital transformation เพื่อสร้างกำลังคนดิจิทัลให้รองรับกับภาคธุรกิจที่ต้องใช้ความรู้ด้านดิจิทัลหรือผู้ประกอบการดิจิทัล” รมว.อว. กล่าว
นอกจากนี้ อว. ยังมีหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่อยู่ในระดับแนวหน้าของอาเซียน และมีเครื่องมือต่าง ๆ ที่ประเทศอื่น ๆ ยังไม่มี เช่น เครื่องฉายแสงซินโครตรอน ซึ่งขณะนี้กำลังผลิตเครื่องฉายแสงซินโครตรอนเครื่องที่ 2 ด้วยตนเองและมีสมรรถนะที่ทัดเทียมในระดับโลก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) มีกล้องดูดาวที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชียและมีเครือข่ายระดับโลก หรือในสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) กำลังทำการวิจัยศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการที่ทำฟิวชั่น สำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือจิสด้า ก็สามารถผลิตดาวเทียมได้แล้ว และยังได้มีแนวคิดที่จะสร้างฐานยิงจรวด หรือ space port เนื่องจากจังหวัดนราธิวาสอยู่บริเวณแถบเส้นศูนย์สูตรจึงมีพื้นที่สำหรับปล่อยดาวเทียมและยิงจรวดที่ดีที่สุด 1 ใน 7 ของโลก โดยจะใช้เวลาประมาณ 10 ปี ในการศึกษารายละเอียดให้รอบคอบต่อไป
ข่าว : นางสาวพจนพร แสงสว่าง
ภาพ : นายภูมินทร์ ปั้นเล็ก
วีดีโอ : นายสุเมธ บุญเอื้อ
ส่วนสื่อสารองค์กร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทร. 02 333 3727 - 3732 โทรสาร 02 333 3834
E-Mail: pr@mhesi.go.th Facebook: MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.