7 ตุลาคม 2563 : ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย นายสำราญ ยอดเพชร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร นายแพทย์ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และคณะ เดินทางไปตรวจเยี่ยมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร พร้อมพบปะสภามหาวิทยาลัยและผู้แทนคณาจารย์ รวมถึงประชุมสภามหาวิทยาลัยเพื่อหารือและมอบแนวทางของบทบาทมหาวิทยาลัยในอนาคต พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการด้านวิจัยและนวัตกรรม ณ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (ศูนย์เทเวศร์)
รมว.อว. กล่าวในที่ประชุมว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มีงานวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงเทคโนโลยีที่หลากหลาย สามารถนำไปประยุกต์เพื่อต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจ การสร้างชุมชนนวัตกรรม ในอนาคตจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลก แต่ต้องร่วมกันหาวิธีพัฒนาหรือผลักดันให้ชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม ต้องบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน กรมวิทยาศาสตร์บริการต้องเข้ามาช่วยพัฒนาด้านงานวิจัยต่างๆ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ต้องช่วยดูแลและให้ความรู้เรื่องนวัตกรรม ในส่วนของรัฐบาล โดย อว. จะช่วยสนับสนุนอย่างเต็มที่ และบทบาทของมหาวิทยาลัยเองต้องคิดหลักสูตรของตนให้สอดรับกับภาคเอกชนในอนาคต โดยภาคเอกชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น เช่น เข้ามาช่วยวางแผนการจัดทำหลักสูตรหรือพิจารณาหลักสูตรใหม่ๆ ขึ้นมา สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้ประเทศไทยมีแนวทางที่ชัดเจนมากขึ้น นักศึกษา สถานประกอบการ ภาคเอกชนหรือแม้แต่รัฐบาล จะได้รับประโยชน์จากแนวทางนี้อย่างดีเยี่ยม เราจะเริ่มมองเห็นทิศทางของการศึกษาและการพัฒนาวิจัยและนวัตกรรมในอนาคตอันใกล้ แล้วก้าวสู่เวทีสากลได้อย่างแน่นอน”
รมว. อว. กล่าวต่อไปว่า “มหาวิทยาลัยในปัจจุบันมีจุดเด่นในตัวเองอย่างชัดเจนอยู่แล้ว เพียงแต่จะหาวิธีนำมาใช้สร้างความเป็นเลิศในด้านต่างๆ อย่างไร มหาวิทยาลัยต้องมองถึงความถนัดของตนเอง เพื่อจะได้คิดแนวทางการพัฒนาได้อย่างถูกต้อง ซึ่งมหาวิทยาลัยในกลุ่มของความเป็นเลิศมีหลายประเภท เช่น 1. กลุ่มสถาบันอุดมศึกษาด้านการวิจัยระดับแนวหน้าของประเทศ (Frontier Research University) 2. กลุ่มสถาบันอุดมศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี (Technology University) 3. กลุ่มสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนฐานราก 4. กลุ่มสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทาง (ดนตรี, อาหาร, กีฬา) 5. กลุ่มสถาบันอุดมศึกษาด้านศาสนา มหาวิทยาลัยต่างๆ ในปัจจุบันต้องรู้ความถนัดของตนว่าอยู่ในประเภทใด แล้วจึงมุ้งเน้นพัฒนาในด้านนั้นๆ อย่างจริงจัง แล้วผลลัพธ์ที่ออกมาจะดีเอง ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านเทคโนโลยีและเรื่องของดิจิทัล ควรพัฒนาในด้านนี้อย่างจริงจังพร้อมสำหรับก้าวเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในอนาคต”
“ในโลกปัจจุบันซึ่งคนเราไม่เน้นใบปริญญาบัตร แต่มุ่งเป้าไปที่เรื่องของความถนัดและทักษะที่สำคัญที่สามารถนำมาใช้ประกอบวิชาชีพได้ ตัวบุคคลต้องปรับตัวให้เร็ว มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เพราะสิ่งนี้จะทำให้เกิดนวัตกรรม เมื่อไรที่คุณอยู่ในกรอบผลลัพธ์ที่ได้จะไม่มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นเลย เพราะสังคมยุคนี้เป็นยุคของการปฏิบัติแนวคิดใหม่ๆ ย่อมเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา สถาบันอุดมศึกษาเองต้องเตรียมพร้อมรองรับหลักสูตรใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในโลคยุคเทคโนโลยี นักศึกษาต้องปรับตัวแล้วมีเป้าหมายเพื่อการศึกษา ภาคเอกชนหรือสถานประกอบการต้องมีความชัดเจนรวมถึงเข้ามามีส่วนร่วมกับมหาวิทยาลัยมากขึ้น มหาวิทยาลัยในอนาคตต้องสอนในสิ่งที่ผู้เรียนชอบ เพราะถ้าให้ในสิ่งที่ไม่ชอบผู้รับจะไม่รับสิ่งนั้นไปและจะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อประเทศไทยจะได้ก้าวสู่เวทีสากลในทุกๆ ด้าน ได้อย่างเต็มภาคภูมิ” รมว. อว. กล่าวในตอนท้าย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.