กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประกาศความพร้อมจัดงานไฮบริดอีเว้นท์ “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2563” ภายใต้แนวคิด “จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน” ผนึกพันธมิตร 88 หน่วยงาน จาก 11 ประเทศ ร่วมโชว์ผลงานและศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย พร้อมชวนเยาวชนเปิดประสบการณ์เรียนรู้วิทย์วิถีใหม่ผ่านนิทรรศการเสมือน 3 มิติ ได้ 2 ช่องทาง คือเข้าชมงานในสถานที่จริง (on ground) ที่จะจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 13 - 23 พฤศจิกายน 63 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี และรับชมแบบออนไลน์ ผ่าน www.thailandnstfair.com ตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 63 เป็นต้นไป
นับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ได้จัดงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ” ซึ่งเป็นกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปีในช่วงเดือนสิงหาคม เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 18 สิงหาคมของทุกปี แต่ในปีนี้ เนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิค-19 ที่อยู่ในช่วงการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาด จึงได้เลื่อนการจัดงานไปเป็นช่วงเดือนพฤศจิกายน ระหว่างวันที่ 13 - 23 พฤศจิกายน 2563 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี พร้อมจัดขึ้นในรูปแบบไฮบริดอีเว้นท์ ที่ผสมผสานระหว่างการเข้าชมงานในฮอลล์ หรือเลือกรับชมจากที่บ้านก็ได้ ตอบโจทย์การใช้ชีวิตวิถีใหม่ โดยงานมหกรรมวิทย์ฯ ในปีนี้ ได้สร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เยาวชนได้มีบทบาทภายในงานมากขึ้น มีส่วนร่วมและมีการแสดงออกมากขึ้น เช่น การแสดงละครวิทยาศาสตร์ กิจกรรมการสื่อสารวิทยาศาสตร์ รวมถึงให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านกิจกรรมแบบออนไลน์ และการจัดนิทรรศการทั้งในและต่างประเทศ โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก 88 หน่วยงาน 11 ประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ นำไปสู่การต่อยอดความคิดสู่การเป็นนวัตกรรุ่นใหม่ของประเทศในอนาคต ตลอดจนโชว์ศักยภาพผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่นำไปใช้ได้จริง ตามกรอบนโยบายของ อว.
สำหรับไฮไลท์ของงานปีนี้ ทาง อว. ได้คัดเลือกนิทรรศการหลักที่มีเนื้อหาอยู่ในกระแสความสนใจของประชาชน มีความเป็นสากล และมุ่งเน้นการนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ มาจัดแสดงในรูปแบบออนไลน์ (Virtual Science Fair) เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเข้าชมงานให้แก่เยาวชนและผู้สนใจทั่วประเทศ อาทิ นิทรรศการเทิดพระเกียรติ I Royal Pavillion, นิทรรศการเจาะนวัตกรรมเกม I Tech behind Games เรียนรู้นวัตกรรมในการพัฒนาเกมจนกลายมาเป็นกีฬาออนไลน์, ตื่นตาตื่นใจกับการจำลองชีวิตบนดาวอังคาร! ในนิทรรศการหนึ่งวัน... (บนดาว)อังคาร | A Day on Mars, มาเรียนรู้ สู้มหันตภัยจิ๋วในนิทรรศการมหันตภัยจิ๋ว | Micro Monster, เรียนรู้และสร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคม ในนิทรรศการอนาคตออกแบบได้ I Sustainable Design
(29 ตุลาคม 2563) ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานงานแถลงข่าวการจัดงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2563” โดยกล่าวว่า การจัดงานในปีนี้เนื่องด้วยสถานการณ์ของโควิด-19 ทำให้ต้องมาคิดดูว่าจะทำอย่างไรให้เข้าถึงงานได้ในจำนวนมากและในโอกาสนี้ จะได้แสดงให้เห็นว่าดั่งเช่นที่พระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์มาโดยตลอด และทรงนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาใช้ในการพัฒนาประเทศ อาทิ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช, พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระราชบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย”, พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย”, พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ที่ทรงมีคุณูปการต่องานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการศึกษาของประเทศไทย ซึ่งในส่วนนี้จะนำมาจัดแสดงภายในโซนนิทรรศการเทิดพระเกียรติ (Royal Pavillion)
ส่วนสิ่งที่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง คือ งานนี้จะไม่ใช่สำหรับเยาวชน นักเรียนเท่านั้น แต่เป็นงานสำหรับคนไทยทุกระดับ ทุกวัย และไม่ใช่การแสดงสิ่งใหม่ๆ เพียงเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ทุกคนได้ตระหนักถึงชาติที่จะเจริญ งานมหกรรมวิทย์ฯ จะแสดงให้เห็นว่า การพัฒนาประเทศจะขาดวิทยาศาสตร์ไม่ได้ ประเทศที่เจริญต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์ การลงทุน การวิจัยและการพัฒนา, ประเทศยิ่งจนต้องยิ่งวิจัย ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือคำกล่าวของอดีตนายกรัฐมนตรีอินเดีย ชวาหะร์ลาล เนห์รู ว่า “เพราะอินเดียจน อินเดียจึงต้องวิจัย อินเดียสละงบประมาณมาสร้างคนและทำวิจัย วิทยาศาสตร์มีมาหลายพันปีแล้วและก็มีอยู่ทั่วโลก จริงๆ แล้วมนุษย์ฉลาดที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสาระทางวิทยาศาสตร์มีอยู่ในตัวมนุษย์มานานมากแล้วตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ อาทิ การศึกษาเรื่องดวงดาว, น้ำขึ้น - น้ำลง วิทยาศาสตร์ถือเป็นวิธีชีวิต การคิดก็เป็นคุณสมบัติของมนุษย์ คนไทยนั้นเก่ง ดีและรู้จักที่จะปรับตัว ซึ่งมีการเรียนรู้จากประเทศอื่นๆ มากมาย
ด้าน ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า งานมหกรรมวิทย์ฯ ปีนี้ นับเป็นมิติใหม่ของจัดกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปีของประเทศ ในรูปแบบไฮบริดอีเว้นท์ ไม่เพียงลดช่องว่างการเข้าถึงงานจากผู้เข้าชมงานที่อยู่พื้นที่ห่างไกลหรือผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางมา แต่ยังเป็นการเพิ่มโอกาสการเรียนรู้และเสนอช่องทางเลือกให้ผู้เข้าชมงาน สามารถเพลิดเพลินไปกับกิจกรรมและเปิดมุมมองการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านช่องทางใหม่นี้ โดยมี 2 ช่องทางในการเข้าชมงาน ช่องทางแรกคือเข้าชมงานในสถานที่จริง (On ground platform) ที่จะจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 13-23 พฤศจิกายน 63 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี เปิดให้เข้าชมงานฟรี! ตั้งแต่เวลา 09.00-19.00 น. โดยมีมาตรการจำกัดผู้เข้าชมงาน และมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมเปิดให้ลงทะเบียนจองสิทธิ์เข้าชมงานล่วงหน้าผ่านทางเว็บไซต์งาน และช่องทางที่สองคือเข้าชม 6 นิทรรศการเสมือน 3 มิติ พร้อมกิจกรรมออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 63 เป็นต้นไป ผ่านช่องทางออนไลน์ (Online Platform) ที่เว็บไซต์งาน www.thailandnstfair.com และสามารถรับชมกิจกรรมและนิทรรศการต่างๆ ที่จัดขึ้น การเยี่ยมชมงานของพรีเซนเตอร์และเหล่าคนดังที่มาเยี่ยมชมงานที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ผ่านการถ่ายทอดสดในมุมมอง 360 องศา ทางเฟสบุ๊กของงาน NSTFair Thailand www.facebook.com/nstfairTH รวมทั้งร่วมสนุกกับกิจกรรมแจกของรางวัล Limited Edition ตลอดการจัดงานทุกวัน
ในด้านความพร้อมของการจัดงาน ผศ.ดร.รวินฯ เผยว่า ด้วยประสบการณ์ตลอด 14 ปีของการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ การปรับการเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ของ อพวช.เป็นรูปแบบออนไลน์ Virtual Museum และการบริหารการเข้าชมงานทั้ง 4 พิพิธภัณฑ์แบบ New Normal ของ อพวช. หลังปลดล็อคดาวน์ เราได้เตรียมความพร้อมในการรองรับผู้เข้าชมในแต่ละวัน มีการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อความสมบูรณ์พร้อมในทุกด้าน ทั้งด้านสถานที่ ระบบสาธารณูปโภค มาตรการป้องกันโควิด-19 ระบบการจราจร การบริการรถรับ-ส่งภายในงาน การปฐมพยาบาล การรักษาความปลอดภัย การบริการต้อนรับ ร้านค้า ร้านอาหาร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์ในการดูแลต้อนรับและอำนวยความสะดวกผู้เข้าชมงาน
ศ. (พิเศษ) ดร.เอนกฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า งานมหกรรมวิทยาศาสต์ฯ แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของผู้จัดงาน ทั้งที่มีสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 เกิดขึ้นก็ไม่เป็นอุปสรรคของการจัดงาน พยายามหาวิธีที่ทำให้คนไทยได้มีโอกาสเรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างทั่วถึง โดยผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งสนุกไม่น้อยกว่าการมาชมงานที่สถานที่จริง พร้อมขอเชิญชวนพ่อแม่ครูอาจารย์ เยาวชนและประชาชนทุกท่านเข้าชมงานมหกรรมวิทย์ฯ ในปีนี้
สำหรับโรงเรียนที่ต้องการเข้าชมงานเป็นหมู่คณะ ติดต่อจองเข้าชมงานได้ที่เว็บไซต์งาน หรือ ติดต่อ อพวช. โทร 02 577 9960 ติดตามข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดงาน ได้ที่ www.thailandnstfair.com หรือ Facebook งาน NSTFair Thailand www.facebook.com/nstfairTH หรือสอบถามข้อมูลที่ อพวช. โทร. 0 2577 9960
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.