กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) เป็นแกนนำระดมคณาจารย์ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญจาก 3 องค์การมหาชน 1 หน่วยงานรัฐ 23 มหาวิทยาลัย และ 1 สมาคม ลงนามจัดตั้งภาคีความร่วมมือวิจัยบรรยากาศแห่งประเทศไทย บูรณาการกำลังคน และทรัพยากรทางการวิจัยร่วมกัน เพื่อกำหนดแผนที่นำทางของการวิจัยที่เชื่อมโยงกับการศึกษาคุณภาพอากาศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมจัดประชุมนัดแรกชูประเด็นเร่งด่วน ศึกษาวิเคราะห์ต้นตอปัญหา PM 2.5 และคุณภาพอากาศโดยรวมในประเทศไทย โดยมี ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เข้าร่วมงาน
ปัจจุบันโลกต้องเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้น จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจก เป็นเหตุให้นานาประเทศหันมาสนใจและตระหนักถึงผลกระทบและความเสียหายในด้านต่างๆ ที่จะตามมา สำหรับประเทศไทยได้รับผลกระทบด้านมลพิษทางอากาศ นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย และปัญหาการเกิดมลพิษอื่นๆ ซึ่งต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน และต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งหน่วยงานและบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ นำองค์ความรู้มาบูรณาการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม เพื่อศึกษาสาเหตุและกลไกการเกิดมลพิษทางอากาศ รวมทั้งหาแนวทางป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก ประธานในพิธีกล่าวว่า เรื่องที่จะทำเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ เนื่องจากเราเห็นปัญหาและโอกาสที่จะแก้ปัญหา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง 23 มหาวิทยาลัย และมี 3 หน่วยงานของฝ่ายวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และมีอีก 2 กรม ซึ่งเป็นกระทรวงสิ่งแวดล้อม รวมถึงอีก 1 สถาบัน ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ทำให้ประเทศไทย สังคม และรัฐบาลได้รับรู้ว่าเรามีคนที่มีความรู้ ความพร้อมที่จะมาช่วยแก้ปัญหาที่สำคัญค่อนข้างมาก นั่นก็คือการวิจัยเรื่องของสิ่งแวดล้อม และถ้าทำอย่างดีจะถือเป็นการอุทิศความรู้ ข้อมูล มุมมองให้แก่การวิจัยสิ่งแวดล้อมของโลก การวิจัยบรรยากาศของโลกที่นานาชาติกำลังทำอยู่ และเราจะเข้าสู่องค์การนานาชาติได้อย่างภาคภูมิ
เรื่องบรรยากาศหรือสิ่งแวดล้อมถือเป็นปัญหาระดับโลก แต่ว่าประเทศก็สามารถที่จะเข้าไปมีส่วนในการเสนอปัญหา ข้อมูล มุมมอง และเสนอวิธีการที่จะแก้ไขเรื่องที่สำคัญ ก็เป็นการยกสถานะของประเทศไทย ยกสถานะของนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการไทย นักปฏิบัติการไทยขึ้นสู่ระดับโลก นอกจากนั้นยังเป็นการทำงานในรูปแบบ Consortium ที่หลากหลายจริงๆ อีกหนึ่งเรื่องที่อยากจะเห็นต่อจากนี้คือเรื่องของ Consortium ที่เป็น Earth-Science และ Ocean Science
ขอขอบคุณหน่วยงานภาคีทั้ง 28 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ สถาบันอุดมศึกษา และสมาคมที่เกี่ยวข้องที่เห็นความสำคัญและมุ่งมั่น ตั้งใจ ผนึกกำลังกันก่อเกิดเป็นภาคีวิจัยบรรยากาศแห่งประเทศไทย ร่วมมือกันต่อสู้กับปัญหามลพิษทางอากาศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ประสบอยู่ในปัจจุบัน ให้บรรลุเป้าหมายภารกิจร่วมกัน ตอบโจทย์คุณภาพอากาศของประเทศไทย ภายใต้นโยบาย "ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน " เพื่อให้การพัฒนาและแก้ปัญหาสามารถเดินหน้าไปได้โดยเร็ว ลดปัญหาและอุปสรรค ใช้ทรัพยากรร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างและพัฒนาวงการวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศของไทยให้เข้มแข็ง พัฒนาบุคลากรให้เชี่ยวชาญ ก่อเกิดประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาประเทศต่อไป
ด้าน ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า สดร. ได้เล็งเห็นความสำคัญของการวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ ซึ่งรวมถึงคุณภาพอากาศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหลังจากดำเนินการมาระยะหนึ่ง พบว่าในประเทศไทย ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศในประเทศไทยต่างกระจายอยู่ตามหน่วยงานรัฐ และสถาบันการศึกษาต่างๆ ทำให้ผลงานวิจัยที่ได้กระจัดกระจายไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับ มลภาวะทางอากาศ ฝุ่น PM2.5 และการคาดการณ์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สดร. จึงเชิญคณาจารย์ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานวิจัยบรรยากาศในประเทศไทย จนท้ายสุดทุกฝ่ายได้แสดงเจตจำนงร่วมกัน ในการจัดตั้งเป็นภาคีวิจัยบรรยากาศแห่งประเทศไทย เพื่อบูรณาการและขยายขอบเขตความเชี่ยวชาญหลักของแต่ละหน่วยงาน รวมถึงประสานความร่วมมืองานวิจัยด้านบรรยากาศและภาพอากาศในประเทศไทย ให้มีการทำงานที่สอดประสานกัน เนื่องจากปัญหาด้านบรรยากาศหลากหลายและซับซ้อนเกินกว่าหน่วยงานเดียวจะทำได้
ภาคีวิจัยบรรยากาศแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันจัดทำแผนที่นำทางของการวิจัยแบบบูรณาการวิจัยบรรยากาศที่เชื่อมโยงกับการศึกษาคุณภาพอากาศของประเทศและการแปลงภูมิอากาศ จัดสร้างห้องปฏิบัติการกลางที่มีเครื่องมือที่ทันสมัยสนับสนุนการวิจัยบรรยากาศ พัฒนาระบบฐานข้อมูล สร้างนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์บรรยากาศ สร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ พัฒนาบุคลากรต้านการวิจัยบรรยากาศ และผลักดันให้มีกรนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง
รายนาม 28 หน่วยงาน ที่ร่วมลงนามความร่วมมือภาคีวิจัยบรรยากาศแห่งประเทศไทย (Thailand Consortium for Atmospheric Research: TCAR) มีดังนี้
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.